โรคลัมปี สกิน ยังระบาดหนัก ปศุสัตว์จ.บุรีรัมย์ รับมีโคกระบือ ติดเชื้อแล้ว 7,000 ตัว ตายไป 311 ตัว เร่งเยียวยาจ่ายเงินชดเชย ย้ำเนื้อติดเชื้อกินได้

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2564 ที่บ้านเลขที่ 94 ม.13 ต.ถลุงเหล็ก อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ นางเพ็ญนภา บัวบุญมา อายุ 45 ปี เปิดเผยว่า ชาวบ้านหลายพื้นที่เริ่มหาแนวทางช่วยเหลือตัวเอง ด้วยการใช้สมุนไพรพื้นบ้าน ป้องกันการติดเชื้อ ลัมปี สกิน ของวัวควาย หลังจากยังไม่มีวัคซีนมาช่วยเหลือ

นางเพ็ญนภา กล่าวว่า คอกวัวโดยรอบในพื้นที่มีวัวป่วยเป็นโรคลัมปี สกิน กันแทบทุกคอก แต่ยังไม่มีใครมาช่วยเหลือ ทราบข้อมูลเพียงพาหะของเชื้อโรคคือแมลง จึงเอาตะไคร้ ใบมะกรูด และสมุนไพร่ไล่แมลงอย่างอื่นมาผสมด้วยน้ำส้มสายชู ทำการฉีดพ่น บางส่วนเอาไปจุดไฟรมควันตอนเย็น สามารถบรรเทาได้ ยังไม่มีวัวในคอกของตนมีอาการของโรคแต่อย่างใด

นายคูณ หล้าแหล่ง อายุ 59 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 13 ต.ถลุงเหล็ก กล่าวว่า ขณะนี้โรคลัมปี สกิน ระบาดแล้วกว่า 10 คอก ในหมู่บ้าน หรือแทบทุกคอก ชาวบ้านไม่มีทางออกจึงต้องใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านแก้ไขไปก่อน ขณะนี้อยากได้วัคซีนมาช่วยเหลือชาวบ้านที่กำลังเดือดร้อน

ด้านนายอภิชาต สุวรรณชัยรบ ปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ประชากรวัวของจ.บุรีรัมย์ มีประมาณ 400,000 ตัว ควายมีประมาณ 150,000 ตัว รวมแล้วประมาณ 550,000 ตัว จากการสำรวจพบว่าพบป่วยเป็นโรคลัมปี สกิน ไปแล้วประมาณ 7,000 ตัว ตายไป 311 ตัว ล่าสุดได้รับแจ้งจากนายธัชกร หัตถาธยากูล ผวจ.บุรีรัมย์ ว่าชณะนี้มีมาตรการการเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคกระบือแล้ว

หากโคกระบือของเกษตรกรตายจากโรคลัมปี สกิน จะได้รับการเยียวยาตามอายุ ถ้ามีอายุไม่เกิน 6 เดือนจะได้รับเงินชดเชยตัวละ 6,000 บาท อายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 1 ปี จะได้รับ 12,000 บาท อายุ 1 -2 ปี จะได้รับตัวละ 16,000 บาท และโคหรือกระบือ อายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชยตัวละ 20,000 บาท ทั้งนี้แต่ละครอบครัวจะได้รับการช่วยเหลือไม่เกิน 2 ตัว

ด้านนายอภิชาต กล่าวต่อด้วยว่า นอกจากนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดได้อนุมัติการช่วยเหลืองบประมาณจัดซื้อยาฆ่าเชื้อและยาฆ่าแมลงมาช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว สำหรับเนื้อของโคกระบือ ที่ป่วยด้วยโรคลัมปี สกิน ทั้งที่หายแล้วหรือตายแล้ว สามารถนำเนื้อมารับประทานได้ เพราะเป็นโรคที่ไม่แพร่จากสัตว์ไปสู่คน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน