เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ศาลาว่าการกทม. นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวความคืบหน้าโครงการ GREEN BANGKOK 2030 ว่า กทม.ประกาศเจตนารมณ์เริ่มต้นโครงการ เดือนธ.ค.62 โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ 10 ตร.ม./คน ภายในปี 2573

รวมถึงเพิ่มพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ประชาชนสามารถเดินถึงได้ในระยะการ 400 เมตร และเพิ่มพื้นที่ร่มไม้ในเมือง (Urban Tree Canopy) จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 17% ให้เป็น 30% ซึ่งปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ก.ย.64) มีพื้นที่สีเขียวในรูปแบบของสวนสาธารณะ/สวนหย่อม รวม 8,796 แห่ง พื้นที่ประมาณ 25,502 ไร่ อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากร 7.30 ตร.ม./คน คิดเป็น 2.60 % ต่อพื้นที่กรุงเทพฯ

สำหรับช่วงปลายปี 2564 – 2565 กทม.เตรียมเปิดสวนสาธารณะให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์อีก 9 แห่ง ประกอบด้วย 1. สวนสวนเทียนทะเลพัฒนาพฤษาภิรมย์ ภายในสถานีพัฒนาที่ดินบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน พื้นที่ 37 ไร่ 2. สวนจากภูผาสู่มหานที ภายในสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เขตจตุจักร พื้นที่ 26 ไร่ 3. สวนสาธารณะบริเวณถนนพุทธมณฑลสาย

3 เขตทวีวัฒนา พื้นที่ 98 ไร่ 4. สวนป่านิเวศอ่อนนุช เขตประเวศ ระยะที่ 1 พื้นที่ 18 ไร่ 5. สวนป่านิเวศหนองแขม เขตหนองแขม พื้นที่ 14 ไร่ 6. สวนป่าเอกมัย เขตวัฒนา พื้นที่ 5.6 ไร่ 7. สวนริมแม่น้ำเจ้าพระยา เขตคลองสาน พื้นที่ 2 ไร่ 1 งาน 96 ตารางวา 8. พื้นที่ภายในซอยวชิรธรรมสาธิต 35 เขตพระโขนง พื้นที่ 14 ไร่ และ 9. ลานกีฬาแสงทิพย์ ซอยปรีดีพนมยงค์ 2 เขตวัฒนา พื้นที่ 5.4 ไร่

นอกจากการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในลักษณะของสวนสาธารณะทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ สวนป่า และสวนหย่อมแล้ว กทม.ยังได้ดำเนินการปลูกต้นไม้ในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง อาทิ ปลูกต้นไม้ในพื้นที่เกาะกลางถนนและพื้นที่ใต้แนวรถไฟฟ้า โดยพิจารณาเลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะกับลักษณะของพื้นที่

ขณะนี้อยู่ระหว่างการปลูกต้นไม้ใต้แนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงสถานีบางอ้อ-สถานีหลักสอง ในพื้นที่เขตบางกอกใหญ่ บางกอกน้อย บางพลัด และบางซื่อ ระยะทางรวม 21 กม. พื้นที่รวมประมาณ 25 ไร่ โดยปลูกต้นพิกุล ต้นข่อย ไทรทอง ไทรอังกฤษ พลับพลึงหนู ฯลฯ ซึ่งจะช่วยดักจับฝุ่นละอองและมลพิษด้วย นอกจากนี้ สำนักสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการเพาะกล้าไม้ ผักสวนครัว และพืชสมุนไพร เพื่อเตรียมแจกให้กับประชาชนในโอกาสต่าง ๆ อีกด้วย

ทั้งนี้กทม. ได้พัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ทั้งที่ดินของภาครัฐ เช่น ที่ดินของส่วนราชการสังกัดกรุงเทพมหานคร กรมธนารักษ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย และที่ดินของภาคเอกชน เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน บริษัทอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงที่ดินของประชาชนทั่วไปที่ส่งมอบให้กทม. นำมาพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

นอกจากจะเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย และให้ประชาชนได้มีสถานที่สำหรับการทำกิจกรรมสันทนาการแล้ว ต้นไม้ยังมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อน ลดฝุ่น ลดมลพิษในอากาศอีกด้วย

อย่างไรก็ตามตั้งแต่เปิดโครงการ GREEN BANGKOK 2030 กทม.ได้ดำเนินการก่อสร้างสวนสาธารณะและเปิดให้บริการแล้ว จำนวน 6 แห่ง พื้นที่รวมกว่า 91 ไร่ ดังนี้ 1. สวนปิยะภิรมย์ พื้นที่ 10 ไร่ 2. สวนสันติพร พื้นที่ 2.5 ไร่ 3. สวนวนาภิรมย์ร่มเกล้า พื้นที่ 30 ไร่ 4. สวนสาธารณะบริเวณโครงการต่อเชื่อมถนนกาญจนาภิเษก-ถนนพุทธมณฑลสาย 2 เขตทวีวัฒนา พื้นที่ 46 ไร่ 5. สวนวิภาภิรมย์ ภายในซอยวิภาวดี 18 แยก 3 พื้นที่ 2 ไร่ และ 6. สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ พื้นที่ 262.7 ตารางวา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน