แจง นทท.รัสเซีย พลัดตกบ่อน้ำร้อน เป็นบ่อชุมชน ไม่ใช่เขตอุทยาน ติดป้ายเตือนแล้ว เผยยังไม่มีเจ้าภาพรับผิดชอบอย่างเป็นทางการ ให้ชุมชนเข้ามาบริหารจัดการเอง

กรณีด.ช.วัย 7 ปี พลัดตกบ่อน้ำร้อนเอกชนในพื้นที่อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา จนถูกน้ำร้อนลวกตามร่างกาย 80% อาการสาหัส ก่อนนำตัวส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเชียงใหม่ราม อ.เมืองเชียงใหม่ นั้น

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 14 ต.ค.64 นายกริชสยาม คงสตรี ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) เผยกรณีลูกชายวัย 7 ขวบ ของนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย พลักตกบ่อน้ำร้อนในเขต อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน จนถูกน้ำร้อนลวกตามร่างกาย อาการสาหัส ว่า จากการตรวจสอบของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง ไม่พบว่าเกิดเหตุในโป่งน้ำร้อนท่าปาย ซึ่งเป็นเขตรับผิดชอบของอุทยานดังกล่าว

แต่ภาพที่ปรากฏในโซเซียลมีเดีย เบื้องต้นพบว่าเป็นบ่อน้ำร้อน ที่อยู่ในเขตรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เมืองแปง อ.ปาย ซึ่งเป็นบ่อน้ำร้อนข้างทางหลวง เส้นทางไป อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ห่างจาก อ.ปาย ประมาณ 29 กิโลเมตร

“โป่งน้ำร้อนท่าปาย ของอุทยานฯ ช่วงโควิดปิดบริการชั่วคราว ก่อนเปิดบริการใหม่ เมื่อวันที่ 9 ต.ค. หรือ 5 วันที่ผ่านมา ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกร้านอาหาร ห้องอาบน้ำอุ่น-แช่น้ำแร่ ส่วนบ่อน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิสูง และติดป้ายเตือนนักท่องเที่ยวทั้งภาษาไทย อังกฤษ และจีน เพื่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินนักท่องเที่ยวแล้ว

จึงให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังกล่าว ทำหนังสือชี้แจงให้สื่อมวลชนรับทราบเรื่องดังกล่าว เพื่อป้องกันความสับสน และข้อมูลคลาดเคลื่อนภายหลัง ส่งผลต่อภาพลักษณ์ท่องเที่ยวในเขตอุทยานด้วย” นายกริชสยาม กล่าว

ด้าน นายวรรณศักดิ์ แก่นทรัพย์ ปลัด อบต.เมืองแปง อ.ปาย กล่าวว่า ลูกชายนักท่องเที่ยวรัสเซีย ที่พลัดตกบ่อน้ำร้อนนั้น เป็นโป่งน้ำร้อนเหมืองแร่ ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านสับสา หมู่ 2 ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ปิง ไม่ใช่โป่งน้ำร้อนเมืองแปง หมู่ 4 ตามที่สื่อโซเชียลมีเดียเผยแพร่ ซึ่งโป่งน้ำร้อนดังกล่าวติดตั้งป้ายเตือนเป็นภาษาไทย และอังกฤษแล้ว เนื่องจากมีอุณหภูมิสูงถึง 90-95 องศาเซียลเซียส

หลังเกิดเหตุ มีสารวัตรท่องเที่ยว จ.แม่ฮ่องสอน โทรสอบถามข้อมูลและข้อเท็จจริง เพื่อติดตามช่วยเหลือ เยียวยาผู้เสียหายแล้ว แต่ผู้เสียหายยังไม่ได้ติดต่อกลับมาที่สารวัตรท่องเที่ยว และอบต.อย่างใด เรื่องดังกล่าว เชื่อว่าเป็นอุบัติเหตุ ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นเท่านั้น

“โป่งน้ำร้อนเหมืองแร่ อบต. เคยทำประชาคม ช่วงกุมภาพันธ์ มีนาคม ที่ผ่านมา เพื่อนำโป่งน้ำร้อนดังกล่าว มาบริหารจัดการ และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแต่ชุมชนไม่ยินยอม เพราะต้องการบริหารจัดการเอง ประกอบกับตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อบต.จึงไม่ใช่หน่วยงานดูแลรับผิดชอบโป่งน้ำร้อนดังกล่าวโดยตรง เพราะยังไม่มีการโอนภารกิจ และบริหารจัดการอย่างใด เพียงตั้งอยู่ในเขต อบต.เท่านั้น

โดยสรุปโป่งน้ำร้อนดังกล่าว ยังไม่มีเจ้าภาพหรือหน่วยงานดูแลรับผิดชอบอย่างเป็นทางการ เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพียงแต่ชุมชนเข้ามาบริหารจัดการกันเอง เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวเท่านั้น” นายวรรณศักดิ์ กล่าว

นายวรรณศักดิ์ กล่าวอีกว่า กรณีนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย ที่เป็นผู้เสียหายฟ้อง เพื่อเรียกค่าเสียหาย และค่ารักษาพยาบาลนั้น สามารถทำได้ แต่ไม่สามารถฟ้องชุมชนได้ เนื่องจากไม่ได้เป็นนิติบุคคล แต่ให้ฟ้องกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อเรียกค่าชดเชย ค่าสินไหมทดแทน จากกระทรวงการคลัง ในฐานะที่เป็นตัวแทนรัฐบาลไทย เหมือนเช่นกรณีเรือโดยสารนักท่องเที่ยวจีนจมทะเลที่ จ.ภูเก็ต ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก กระทรวงการคลังต้องเยียวยาและจ่ายค่าชดเชยเป็นเงินกว่า 46 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูและรักษาภาพลักษณ์ท่องเที่ยวไทยด้วย

ส่วนผู้เสียหายที่ขอเปิดรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือเป็นค่ารักษาพยาบาลบุตรชายนั้น อบต.ไม่ทราบเรื่อง แต่ทราบว่า นักท่องเที่ยวต่างประเทศส่วนใหญ่มีกรมธรรม์ประกันชีวิต และประกันรักษาพยาบาลอยู่แล้ว หากเกิดเรื่องส่วนใหญ่ใช้บริการหรือเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากมีสิทธิและวงเงินคุ้มครองอยู่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีลูกชายนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเชียงใหม่นั้น ผู้สื่อข่าวติดต่อเลขา นพ.ประมุข อุณจักร ผู้บริหารโรงพยาบาลดังกล่าว เพื่อขอสัมภาษณ์เรื่องดังกล่าว แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยระบุว่า ต้องทำหนังสือขออนุญาต เพื่อให้ผู้บริหารพิจารณาก่อนเท่านั้น

ที่มา มติชนออนไลน์ ภาพบางส่วนจาก https://th.worldorgs.com/

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน