สู้คดีรุกที่มา 19 ปี สุดท้ายนอมินี เจ้าของ บ้านพักตากอากาศหรู ริมทะเลสาบเขื่อนศรีนครรินทร์ มูลค่า 5 ล้าน ยอมรื้อถอนแล้ว คาดใช้เวลา 30 วัน
วันที่ 15 ต.ค.2564 นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ว่า จากนโยบาย “ทส.ยกกำลัง x” ของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ ให้ดำเนินการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่า ขั้นเด็ดขาดโดยเฉพาะกลุ่มนายทุนผู้จ้างวานให้บุกรุกป่า แล้วยึดคืนกลับมาฟื้นฟูให้เป็นผืนป่าต้นน้ำดังเดิมนั้น
นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า ล่าสุดตนได้รับรายงานจาก นายยุทธพงค์ ดำศรีสุข หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ว่า เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2545 หรือประมาณ 19 ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ได้เข้าตรวจยึดบ้านพักตากอากาศสร้างรุกพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์เนื้อที่ประมาณ 14 ไร่ มูลค่า 5 ล้านบาทของนายทุนชาว กทม. โดยมี นายเชิดชู ทองชีวงค์ พร้อมพวกรวม 10 คน ตกเป็นผู้ต้องหา
นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า และถูกดำเนินคดีในความผิด “ฐานร่วมกันยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถาง พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งผู้ถูกจับกุมนั้น เป็นนอมินีให้กับนายทุนจากกรุงเทพฯ ด้วยการนำพื้นที่นำมามาสร้างบ้านพักตากอากาศเอาไว้พักผ่อน ลักษณะเป็นบ้านแฝดสร้างคร่อมลำธาร ในท้องที่ผืนป่าบ้านแม่กว้า หมู่ 1 ต.แม่กระบุง อ.ศรีสวัสดิ์
นายนิพนธ์ กล่าวว่า ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนถึงอัยการจังหวัดกาญจนบุรีให้พิจารณาสั่งฟ้อง แต่ท้ายที่สุดแล้ว พนักงานอัยการจังหวัดกาญจนบุรี ได้พิจารณาเห็นควรสั่งไม่ฟ้องนายเชิดชู ทองชีวงศ์ พร้อมพวกรวม 10 คน โดยให้เหตุผลว่าผู้ต้องหาไม่มีเจตนาในการกระทำความผิด
“คดีนี้ถือว่าสู้กันมาอย่างยาวนานระหว่างเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ (โจทก์) และกลุ่มผู้ต้องหา 10 คน (จำเลย) แต่สุดท้ายแล้วคดีนี้นับว่าสามารถนำไปเป็นอุทาหรณ์ให้กับกลุ่มนายทุนที่เข้ายึดถือ ครอบครอง พื้นที่เขตอุทยานฯได้เป็นอย่างดี เพราะถึงแม้ว่า พนักงานอัยการจะพิจารณาสั่งไม่ฟ้อง ทำให้ผู้ต้องหาหลุดจากคดีอาญาก็ตาม แต่พื้นที่ที่ถูกบุกรุกนั้น ยังอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ” นายนิพนธ์ กล่าว
นายนิพนธ์ กล่าวว่า ดังนั้นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งยังมีอำนาจ ประกาศให้ผู้บุกรุกรื้นถอนสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งพืชผลอาสินทั้งหมดออกไปให้พ้นเขตอุทยานฯโดยไม่มีหมดอายุความ และหากพ้นกำหนดการประกาศ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ จะเข้าดำเนินการรื้อถอนเอง โดยค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนทั้งหมดผู้กระทำผิดจะต้องออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดและต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยร้อยละ 25 บาทต่อปี โดยบ้านพักตากอากาศหลังดังกล่าวนั้น ผู้เชี่ยวชาญของกรมอุทยานฯได้ประเมินค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน เป็นเงิน จำนวนมากถึง 379,924 บาท
นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา นายยุทธพงค์ ดำศรีสุข หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งใหม่เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้รับหนังสือจากนายเชิดชู ทองชีวงศ์ ฉบับลงวันที่ 11 ต.ค.2564 เนื้อหาแจ้งที่แจ้งมาระบุว่า จะดำเนินการรื้อถอนบ้านพักตากอากาศหลังดังกล่าว รวมทั้งพืชผลอาสินออกไปให้พ้นเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ด้วยตนเอง แต่การรื้อถอนต้องใช้เวลาประมาณ 30 วันจึงจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งขณะนี้ได้ทำการรื้อถอนไปแล้วประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์
“คดีในลักษณะนี้เกิดขึ้นมาแล้วหลายคดี โดยเฉพาะการบุกรุก แผ้วถาง ก่นสร้าง เขตอุทยานฯในพื้นที่จ.กาญจนบุรี ถึงแม้กลุ่มนายทุนผู้บุกรุกและเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯจะสู้คดีในชั้นอัยการหรือชั้นศาลกันอย่างยาวนานก็ตาม แต่สุดท้ายแล้ว กลุ่มนายทุนผู้บุกรุกเขตอุทยานฯ ก็ต้องยอมรื้อถอนอยู่ดี ดังนั้นจึงฝากประชาสัมพันธ์ไปถึงกลุ่มนายทุนและประชาชนชาวไทยทุกคนว่า หากมีความต้องการที่จะซื้อที่ดิน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์อะไรก็ตาม ขอให้ตรวจสอบพื้นที่ให้แน่ชัดเสียก่อนว่าที่ดินที่ต้องการซื้อนั้นเป็นพื้นที่ที่ถูกกฎหมายหรือไม่” นายนิพนธ์ กล่าว
นายนิพนธ์ กล่าวด้วยว่า เพราะที่ผ่านมาบางครั้งผู้ซื้ออาจจะซื้อที่ดินที่มีโฉนดก็จริง แต่โฉนดที่ซื้อมาอาจจะเป็นโฉนดที่ออกมาโดยมิชอบ เพื่อความถูกต้องและความสบายใจของผู้ซื้อ ก่อนซื้อเพื่อลงทุนหรือเพื่อประโยชน์อะไรก็ตาม ท่านสามารถนำเอกสารที่มีมาตรวจสอบได้ที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง)ได้ในวันเวลาราชการ ทุกวัน ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนหรือผู้ต้องการซื้อที่ดิน ไม่ต้องมาเป็นคดีกับหน่วยงานรัฐและมาเสียใจในภายหลังอย่างแน่นอน