คนเลี้ยงปลากระชังทรุด! พิษน้ำท่วม น็อกตายกว่า 60% จากที่จะขายได้ถึง 60 ล้านบาท เผยต้องเป็นหนี้คนละหลายแสน เพราะผูกค่าหัวอาหารกับบริษัทไว้ เตรียมเจรจา
วันที่ 18 ต.ค.64 จากกรณีมวลน้ำจากแม่น้ำชีที่ไหลมาจาก จ.ชัยภูมิ และ จ.ขอนแก่น หลากเข้าท่วมในพื้นที่ จ.มหาสารคาม และขณะนี้น้ำได้หลากลงมาเข้าท่วมพื้นที่ อ.โกสุมพิสัย และ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสราคราม ความเสียหายเบื้องต้นกว่า 8 หมื่นไร่
แต่ความเสียหายปรากฏชัดเจนจากน้ำท่วมเที่ยวนี้คือธุรกิจเลี้ยงปลากระชังในลำชี รวม 2 อำเภอ คือ อ.โกสุมพิสัย และ อ.กันทารวิชัย ทำให้ปลาที่เลี้ยงไว้ตายเพราะเกิดน็อกน้ำจำนวนมาก ไม่สามารถเร่งจับปลาได้ทัน เนื่องจากน้ำมาเร็ว
เกษตรกรผู้เลี้ยงต้องเร่งมือจับปลาที่ครบอายุเลี้ยงคือ 4 เดือน ซึ่งเป็นปลาใหญ่น้ำหนักประมาณ 1 ก.ก.เศษ ที่อยู่ในช่วงที่บริษัทรับซื้อจะมาจับแต่เกิดน้ำท่วมก่อน รวมทั้งพากันเร่งจับปลาที่ยังไม่ครบกำหนดการเลี้ยงขึ้นมาขายในราคาถูก อาทิ ปลาสด ขาย 3 ก.ก. 100 บาท ปลาตาย ก.ก.ละ 10-20 บาท เป็นต้น ทำให้พอมีรายได้บ้าง แต่ส่วนใหญ่ปลาเน่าตายเสียหายจำนวนมาก
จากข้อมูลของสำนักงานประมงจังหวัดมหาสารคาม พบว่า พื้นที่ อ.โกสุมพิสัย มีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังจำนวน 48 ราย รวม 1,314 กระชัง จากการสำรวจของทางอำเภอโกสุมพิสัย พบว่าเสียหาย 972 กระชัง ส่วน อ.กันทรวิชัย มีเกษตรกรเลี้ยงปลากระชังจำนวน 13 ราย รวม 136 กระชัง ประเมินภาพรวมผลผลิตปลากระชังที่เลี้ยงใน 2 อำเภอ
หากไม่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมฤดูกาลนี้จะได้ผลผลิตประมาณ 1.1 พันตันเศษ คิดเฉลี่ยราคาปลาอยู่ที่ กิโลกรัมละ 58 บาท หรือตันละ 58,000 บาท จะเป็นเงินประมาณกว่า 60 ล้านบาทเศษ สำหรับความเสียหายในภาพรวมปลากระชังใน 2 อำเภอ จากการสอบถามเจ้าหน้าที่สำนักงานประมงจังหวัดมหาสารคามเบื้องต้นคาดว่าน่าจะเสียหายกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ แต่ตัวเลขยังไม่แน่ชัดเพราะอยู่ระหว่างการลงพื้นที่สำรวจ
นายอุดม สารโฮมเมือง ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงปลากระชัง ต.หนองบัว อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ให้ความเห็นกรณีนี้ว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังที่ได้รับความเสียหายจากปลาเกิดน็อกน้ำน่าจะไม่ต่ำกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ จับปลาไม่ทันจริงๆ เพราะน้ำขึ้นเร็วมาก เมื่อปลาตายบางส่วนก็นำมาทำเป็นปลาร้า และขายปลาสดราคาถูกบ้าง แต่ก็ไม่ทันเพราะมันตายพร้อมกันจำนวนมากหลายตัน ก็ต้องนำขึ้นมาทิ้งเพราะปลาเน่า ปัญหาหนักของเกษตรกรผู้เลี้ยงที่ไม่มีผลผลิตปลาขายก็คือหนี้ก้อนใหญ่ที่ผูกกับบริษัทเป็นค้าหัวอาหาร โดยแต่ละคนเป็นหนี้หลักหลายแสนบาท
ในการเลี้ยงปลาแต่ละรุ่นต้นทุนการเลี้ยงหลายแสนบาท เช่นที่ตนเลี้ยง 20 กระชัง เมื่อครบกำหนดเลี้ยง 4 เดือนปลาจับขายได้จะมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าหัวอาหารกว่า 7 แสนบาท โดยเฉลี่ยค่าหัวอาหารจะอยู่ที่กระชังละ 3.5 หมื่นบาทเศษ หากช่วงใหนราคาปลาปรับสูงขึ้นเพราะมีปลาเข้าสู่ตลาดน้อยก็จะเหลือกำไรประมาณกระชังละหมื่นบาทเศษ หรืออาจถึงสองหมื่นบาท
ที่ต้องเลี้ยงปลาอยู่ทุกวันนี้เพราะได้ลงทุนทำกระชังไปแล้วก็ต้องเลี้ยงต่อเพราะช่วงแรกๆ หัวอาหารปลากระสอบละ 400 บาทเศษ ก็มีรายได้พอสมควร แต่ปัจจุบันราคาพุ่งถึงกระสอบละ 640 -650 บาท ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงปลาสูงขึ้นผลตอบแทนจึงลดลง ทำให้ผู้เลี้ยงปลากระชังเลิกเลี้ยงไปจำนวนมากจากเดิมใน 3 อำเภอ ที่ลำน้ำชีไหลผ่าน คือ อ.โกสุมพิสัย อ.กันทรวิชัย และ อ.เมือง มีปลากระชังมากกว่า 4 พันกระชัง
เบื้องต้นทางผู้เลี้ยงปลากระชังกลุ่มตนได้มีการเจรจากับทางบริษัท เพราะไม่มีปัญญาที่จะหาเงินใช้หนี้ค่าหัวอาหารได้ จึงขอทางบริษัทว่าขอเลี้ยงปลาต่อไปแล้วค่อยใช้หนี้ไปเรื่อยๆ โดยขอให้จัดหาหัวอาหารปลารวมทั้งหาตลาดให้เหมือนเดิม คาดว่าจะสามารถใช้หนี้คืนให้ทางบริษัทได้โดย 1 ปีจะเลี้ยงปลาอยู่ 2 รุ่น นอกจากนั้นก็จะทำเรื่องถึงทางจังหวัดเพื่อขอความช่วยเหลือเยียวยาเพราะไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว
ด้าน นายคงฤทธิ์ บัวบุญ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดมหาสารคาม ให้ความเห็นกรณีนี้ว่า ความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังครั้งนี้ รวมทั้งนาข้าวที่ได้รับความเสียหาย 2 อำเภอน่าจะเกือบ 4 หมื่นไร่แต่ตัวเลขยังไม่นิ่ง เพราะน้ำยังเอ่อท่วมขยายวงออกไปเรื่อยๆ นาข้าวนี้การเยียวยา ตามประกาศกระทรวงเกษตรฯ 2564
ล่าสุดจะได้รับการเยียวยาอยู่ที่ 1,340 บาท ต่อไร่ ทางตนจะได้รวบรวมข้อมูลความเดือดร้อนของเกษตรกรเสนอต่อทางจังหวัดอีกทางหนึ่งเพื่อให้การเยียวยาเป็นไปด้วยความรวดเร็วบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรที่ทุกข์ระทมจากปัญหาโควิด-19 แล้วยังมาโดนน้ำท่วมอีกผลผลิตการเกษตรที่จะพอจะได้ขายมีรายได้เข้าครอบครัวก็มาละลายไปกับสายน้ำหมด อีกทั้งต้องแบกรับหนี้สินก้อนโตอีกปัญหาเหล่านี้ทางสภาเกษตรกร จะมีการนำเข้าหารือเพื่อหาทางช่วยเหลือต่อไป
ส่วน นายสมพร รุ่งเรืองกำเนิด ประมงจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยแนวทางการช่วยเหลือว่า สำหรับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ปี 2564 ด้านประมงการเยียวยาสำหรับปลากระชัง อัตราการจ่ายจะอยู่ที่ตารางเมตรละ 368 บาท คนหนึ่งไม่เกิน 80 ตารางเมตร ส่วนบ่อดิน 4,682 บาท ต่อไร่ คนละไม่เกิน 5 ไร่ ช่วงนี้ตัวเลขความเสียหายยังไม่สรุปเพราะอยู่ระหว่างลงพื้นที่สำรวจทุกวัน