เซ่นอีกศพ เหยื่อถังสารเคมีระเบิดที่ระยอง อีก 2 ราย ยังโคม่า กนอ.สั่งหยุดประกอบกิจการชั่วคราว คาดเกิดจาก 2 ปัจจัย ผิดพลาดของบุคคล-สารเคมีตกค้าง

กรณีเกิดเหตุระเบิดภายใน บริษัท มาบตาพุด แทงค์เทอร์มินอล จำกัด (MTT) ถ.ไอ-8 ท่าเรือนิคมอุตสาหกรรมมายตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย สาหัส 3 ราย เมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา บริษัทชี้แจงว่า เกิดจากการที่พนักงานบริษัทรับเหมา 5 ราย เข้าไปทำงานภายในถังขนาด 90,000 ลบ.ม จนเกิดการระเบิดขึ้น เบื้องต้นบริษัทให้ความช่วยเหลือ รับผิดชอบผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ตามที่เสนอข่าวไป

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 28 ต.ค.64 นายตรีรัตน์ หนูแก้วขวัญ หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์ และการจัดการ สำนักงาน ปภ.ระยอง กล่าวภายหลังเข้าตรวจสอบในเกิดเหตุถังสารเคมีระเบิด ภายใน บริษัท มาบตาพุด แทงค์เทอร์มินอล ถนนไอ-8 นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง โดยเบื้องต้นได้รับแจ้งว่า มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย รวมผู้เสียชีวิตทั้งหมด 3 ราย ส่วนอีก 2 ราย ยังรักษาตัวอยู่ ที่ รพ.ระยอง

โดยนายดุสดี มีเงิน ผู้จัดการส่วนชีวอนามัยฯ ของบริษัท มาบตาพุด แทงค์เทอร์มินอล พาตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบสภาพถังบรรจุสารเคมีได้รับความเสียหาย โดยบริเวณหลังคาทรงกระทะคว่ำด้านบนของถัง หรือ floating roof ถูกแรงระเบิดจนเปิดออก ซึ่งมองเห็นได้ในระยะไกล ซึ่งทางบริษัทตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเบื้องต้น พบว่าน่าจะเกิดจากสาเหตุ 2 ปัจจัยคือ

1.ปัจจัยด้านความผิดพลาดของบุคคล (Human error) อาทิ ความประมาทของตัวเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

2.ปัจจัยด้านสภาวะของสารเคมีที่ตกค้าง (สารไฮโดรคาร์บอน) ที่อาจจะเกิดปฏิกิริยาขึ้นในกระบวนการทำความสะอาดถังบรรจุสารเคมี (Cleaning tank) อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยที่วิเคราะห์เบื้องต้น ยังอยู่ในการหารือของทางบริษัทฯ ที่จะสืบสวนเหตุการณ์ต่อไป

ล่าสุดการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มีคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้บริษัท มาบตาพุด แทงค์เทอร์มินอล จำกัด หยุดประกอบกิจการโรงงานในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับหน่วยถังเก็บสารแนฟทา หมายเลขถัง TK 401C เป็นการชั่วคราว นับตั้งแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบสาเหตุและประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น

โดยให้บริษัทฯ ตรวจสอบความเสียหายของโครงสร้างถังเก็บสารแนฟทา หมายเลขถัง TK 401C พร้อมมีหนังสือรับรองการตรวจสอบจากวิศวกร ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 พร้อมทั้งสรุปผลการตรวจสอบ และแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขเสนอ กนอ. เพื่อใช้ประกอบการพิจารณา

รวมทั้งตรวจสอบวิเคราะห์หาสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วน และจัดทำมาตรการด้านความปลอดภัย เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ โดยต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานภายนอกที่ให้การรับรองด้านความปลอดภัย (Third Party) พร้อมชี้แจงแนวทางและมาตรการในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว

 

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน