บุคลากรแพทย์ รพ.อุดรฯ ชุมนุมไล่ 3 ผู้บริหาร หลังไม่จ่ายเงินเสี่ยงภัยโควิดกว่า 660 คน ตั้งแต่เดือน มี.ค.-ต.ค. 2563 ชี้พยายามทำให้เกิดความขัดแย้งในองค์กร

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 17 พ.ย. 2564 ที่ลานกิจกรรมสวนสาธารณหนองประจักษ์ศิลปาคม ตรงข้ามตึกอำนวยการโรงพยาบาลอุดรธานี ถนนเพาะนิยม เขตเทศบาลนครอุดรธานี มีกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขของโรงพยาบาลอุดรธานี ประมาณ 200 คน สวมชุดดำร่วมชุมนุมพร้อมชูป้ายแสดงพลังขับไล่ผู้บริหารโรงพยาบาลอุดรธานี หลังไม่จ่ายเงินค่าตอบแทนจากการปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นเงินตอบแทนพิเศษรายเดือน เดือนละ 1,500 บาท ตั้งแต่เดือน มี.ค.-ต.ค. 2563 โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองอุดรธานี มารักษาความสงบเรียบร้อย

ในเอกสารการชุมชนระบุว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ผู้บริหารโรงพยาบาลอุดรธานี มีการเบิกจ่ายเงินตอบแทนพิเศษรายเดือนให้กับบุคลากรสาธารณสุขในสถานการณ์โควิด-19 เงินค่าตอบแทนพิเศษรายเดือน ระหว่างเดือน มี.ค.-ต.ค. 2563 จำนวน 7 เดือน โดยจะจ่ายให้กับบุคลากรที่ปฏิบัติงานตรงกับผู้ป่วยรายละ 1,500 บาทต่อเดือน รวมได้รับ 10,500 บาท และหน่วยสนับสนุน 1,000 บาทต่อเดือน รวมจะต้องจ่าย 7,000 บาท บางคนได้ครบ 7 เดือน บางคนได้บางส่วน และส่วนมากไม่ได้รับเงินเลย จึงสร้างความไม่พอใจแก่บุคลากรผู้ที่ไม่ได้รับเงินค่าตอบแทนพิเศษ

ทั้งนี้ บุคลากรสาธารณสุขโรงพยาบาลอุดรธานีเคยมีการชุมชนเรียกร้องเงิน 1 เปอร์เซ็นต์ ที่ ครม.มีมติให้จ่ายบุคลากรสาธารณสุขโรงพยาบาล ในสถานการณ์โควิด-19 ทุกคน แต่ผู้บริหารเลือกจ่ายเพียง 600 คน จาก 3,400 กว่าคน ผู้ไม่ได้รับเงินจึงออกมาชุมนุมเรียกร้องถึง 2 ครั้ง และยื่นหนังสือผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดอุดรธานี ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีได้รับปากว่าจะติดตามเรื่องให้ และให้ผู้ที่ไม่ได้รับเงินตอบแทนพิเศษยื่นอุทธรณ์ แต่ระหว่างรอผลการยื่นอุทธรณ์และรอคำตอบผู้บริหารโรงพยาบาลอุดรธานี ได้เบิกจ่ายเงินให้กับบุคลากรที่เคยได้รับไปแล้วเพิ่ม

การจ่ายเงินตอบแทนพิเศษรายเดือนจ่ายให้เฉพาะข้าราชการ แต่เป็นไปด้วยความไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใส อธิบายไม่ได้ว่าทำไมมีการจ่ายเงินให้ไม่ครบ 7 เดือน มีข้าราชการบางกลุ่มได้รับเงินครบ 7 เดือน 10,500 บาท บางรายได้ 1 เดือน 1,500 บาท บางรายได้ 2 เดือน 3,000 บาท การจ่ายเงินตอบแทนพิเศษรายเดือน ด้วยการจิ้มเช่นเดียวกับกรณีการจ่ายเงิน 1 เปอร์เซ็นต์ 600 คน คือจ่ายเฉพาะกลุ่มเดิม ส่วนกลุ่มลูกจ้าง พกส.ยังไม่มีสัญญาณจ่ายเงินตอบแทนในส่วนนี้เลย โรงพยาบาลอุดรธานี โดยผู้อำนวยการอุดรธานี และผู้บริหารจงใจ เจตนา มีความพยายามยั่วยุให้เกิดความแตกแยก ขัดแย้งในองค์กรวิชาชีพ

การจ่ายเงินตอบแทนในหน่วยงานเดียวกัน แต่มีการจ่ายค่าตอบแทนที่แตกต่างกัน เป็นข้าราชการเหมือนกัน ทั้งที่ข้อสั่งการจากกระทรวงสาธารณสุข ให้จ่ายค่าตอบแทนหมวดนี้ให้บุคลากรทุกคนที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด-19 โดยเท่าเทียมกันและเสมอภาคโปร่งใส ขณะที่ค่าตอบแทนเสี่ยงภัย รายผลัด ปี 2564 ยังพบว่าหลายหน่วยงานยังไม่ได้รับค่าตอบแทนส่วนนี้เลย หรือได้รับไม่ครบ แต่กลับให้มีการลดทอนจำนวนเบิกจ่ายลงโดยไม่ทราบเหตุผล หรือไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงของกระทรวงสาธารณสุขกรณี PUI

ขณะที่สถานการณ์มีความสุ่มเสี่ยง จากการตีความการจ่ายค่าตอบแทนผิดพลาด แต่โรงพยาบาลไม่มีการแจ้งหรือติดตามความก้าวหน้าผลการอุทธรณ์ให้บุคลากรโรงพยาบาลได้ทราบผล หรือแนวโน้มการอุทธรณ์ แต่กลับสร้างหลักฐานขึ้นมาเพื่อป้องกันตนเองและพวกพ้องและอ้างว่าเป็นประโยชน์กับผู้ร้องทุกข์

ซึ่งในการชุมนุมครั้งนี้ได้ขับไล่ผู้บริหาร 3 คน คือ พญ.ฤทัย วรรธนวินิจ ผอ.โรงพยาบาลอุดรธานี ที่ไม่สามารถจัดการความขัดแย้งได้ ดร.กิตติยา เตชะไพโรจน์ หัวหน้าพยาบาล สนับสนุนให้เกิดความขัดแย้ง นายมนตรี ดวงจันทร์ทอง รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจด้านอำนวยการ ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความขัดแย้งในองค์กร และไม่ต้องการให้บุคคลทั้ง 3 อยู่บริหารโรงพยาบาลอุดรธานีอีกต่อไป เนื่องจากไม่มีธรรมาธิบาล จึงขอให้ยุติบทบาทการทำงานในโรงพยาบาลอุดรธานี

ตัวแทนพยาบาลวิชาชีพชำนาญพิเศษ อายุ 55 ปี เปิดเผยว่า ในวันนี้ที่ออกมาเรียกร้อง เป็นครั้งที่ 3 ก็ไม่ทราบว่าจะผลออกมาเป็นเช่นไร เสียงของเราดังไหม ครั้งที่แล้วที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีมารับเรื่องเกี่ยวกับเงิน 1 เปอร์เซ็นต์ แล้วนำไปอุทธรณ์ ก็ไม่ได้รับคำตอบและก็ไม่มีการแจ้งผลให้พวกเรารับทราบเลย แล้วเงิน 7 เดือน ก็มีการจ่ายออกมาได้เฉพาะกลุ่มเท่านั้น ไม่แตกต่างกับเงิน 1 เปอร์เซ็นต์ เป็นการจิ้มให้

พยาบาลวิชาชีพชำนาญพิเศษ กล่าวอีกว่า พวกเราอยากออกมาบอกว่า เหนื่อยมากและเสี่ยงด้วยเพราะเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากเป็นหน้าที่ เราไม่ต้องการเป็นฮีโร่ เราไม่ใช่ททาร หรือนักรบ เพราะเราเป็นพยาบาลเป็นผู้ให้บริการทางด้านสาธารณสุข เราก็กลัวเหมือนกันถึงแม้ว่าจะใส่แมสก์ 2 ชั้นก็ตาม สิ่งที่ออกมาเรียกร้องต้องการความเป็นธรรมเท่านั้นเองกับผู้บริหาร

ตัวแทนพยาบาลวิชาชีพชำนาญพิเศษ กล่าวต่อว่า อยากฝากถึงรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อยากให้เห็นใจพวกเราด้วย เพราะพวกเราคือมดงาน ซึ่งไม่มีอาวุธอะไรเลยไปต่อกรกับผู้บริหาร พวกเราต้องการความเห็นใจและความเห็นใจจากท่าน เพราะกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อไรกำลังใจหมดจะทำโดมิโน่ก็จะล้มลงมา นับถือท่านที่ดูแลบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขดีมาก แต่ท่านอาจมองข้ามจุดเล็กของเราไป ขอกราบท่านให้ฟังเสียงพวกเราบ้าง จากบุคลากรสาธารณสุข ของโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี

ขณะที่พยาบาลวิชาชีพชำนาญพิเศษอีกราย อายุ 59 ปี กล่าวว่า เนื่องจากการจ่ายเงิน 1 เปอร์เซ็นต์ในรอบแรกไม่มีชื่อของกลุ่มบุคลากรเหล่านี้ เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมาได้จ่ายเงินค่าเสี่ยงภัยรายเดือน 1,500 บาท และยังไม่ได้รับ โดยยังไม่ได้รับการชี้แจ้งหรือคำตอบใดๆ ขั้นตอนของการอุทธรณ์ที่ผู้ใหญ่จะเร่งรัดในการจ่ายเงิน ก็ยังไม่ทราบว่าถึงขั้นตอนไหนแล้ว ซึ่งไม่มีใครออกมาพูดให้รับทราบเลย แต่สิ่งที่ผ่านมาเหมือนกับเราโดนกระทำ ทำให้รู้สึกเจ็บช้ำใจทั้งที่เพื่อนร่วมงานข้างกันไปทำงานพร้อมกันกลับพร้อมกัน แต่เพื่อนได้เงิน เรากลับไม่ได้เงิน น้องบางคนยังไม่ได้เงินเลย กลุ่มของพวกเราไม่ได้รับเงินที่ลงชื่อมีอยู่จำนวน 664 คน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน