ตรัง แป้ง น้ำตาล ใบตอง ต้นทุนราคาสูงขึ้น แม่ค้าขนมเข่งพื้นเมืองตรังปรับตัว ทำลูกเล็กขาย รองรับลูกค้าเงินน้อย ซื้อไหว้เทศกาลตรุษจีน

ยอดขายขนมเข่งพื้นเมืองตรังลดฮวบ ขณะที่ต้นทุนต่างๆ สูงขึ้น ทำให้แม่ค้าบางรายต้องหันมาทำขนมเข่งแบบภาคกลาง เพราะมีลูกเล็ก และราคาแค่ลูกละ 10 บาท เพื่อให้ลูกค้าได้ซื้อไหว้ตรุษจีน

ที่บ้านเลขที่ 43/4 ถนนรักษ์จันทน์ ในเขตเทศบาลนครตรัง บรรดาสมาชิกในครอบครัวของ นางสุดจิตต์ ส่องรอบ อายุ 65 ปี กำลังเร่งผลิตขนมเข่ง โดยจะช่วยกันกวนข้าวเหนียว ที่ผสมกับน้ำตาล แล้วนำใส่ในกระป๋องที่ห่อใบตองไว้ ก่อนนำไปนึ่งด้วยกระทะใบบัว ซึ่งต้องใช้เวลานานร่วม 12 ชม.

โดยขนมเข่งที่ครอบครัวของ นางสุดจิตต์ ผลิตขาย เป็นขนมแข่งแบบพื้นเมืองตรัง ที่จะมีจุดเด่นคือ มีลักษณะเป็นเข่งใหญ่เท่ากระป๋องนม เนื้อแน่น ไม่มีไส้ มีเพียงแป้งข้าวเหนียว และน้ำตาล เป็นส่วนประกอบ ขายเป็นกิโลกรัมๆ ละ 4-5 ลูก

นางสุดจิตต์ บอกว่า ยอดขายขนมเข่งแบบพื้นเมืองตรัง ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ลดลงเล็กน้อย และต้องปรับราคาขายขึ้นกิโลกรัมละ 5 บาท อันเนื่องมาจากต้นทุนที่สูงขึ้น โดยขายส่ง จากกิโลกรัม ละ 75 บาท ปรับขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 80 บาท ส่วนขายปลีก จากกิโลกรัมละ 100 บาท เป็นกิโลกรัมละ 120 บาท

เนื่องจากแป้ง และน้ำตาล มีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะใบตองที่ใช้ทำกระทงใส่ขนมเข่ง ปีนี้มีการปรับราคาขึ้นเยอะ จากกิโลกรัม 12 บาท เป็นกิโลกรัมละ 15-18 บาท ทั้งนี้ ยอดขายขนมเข่งในจังหวัดตรังนั้น ยังคงที่ไม่ลดไปจากปีที่แล้ว แต่ยอดขายในจังหวัดสงขลา และจังหวัดภูเก็ต ลดลงมากพอสมควร

ส่วน นางสาวพัชริดา ยิ่งวัฒนกุล อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 90/8 ถนนห้วยยอด ในเขตเทศบาลนครตรัง ซึ่งปีนี้นอกจากจะทำขนมเข่งแบบพื้นเมืองตรัง ที่มีลักษณะเป็นเข่งใหญ่เท่ากระป๋องนมแล้ว ยังเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าด้วยการทำขนมแข่งแบบภาคกลาง

ซึ่งเป็นขนมเข่งในกระทงใบตองขนาดเล็ก ที่มีไส้มะพร้าวอ่อน และ แปะก๊วย เพื่อขายในราคากระทงละ 10 บาท เป็นการรองรับลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่อาจมีผลกระทบจากปัญหาข้าวของแพง แล้วหันมาซื้อขนมเข่งลูกเล็กที่มีราคาถูก เพื่อใช้ไหว้ในเทศกาลตรุษจีนแทน

โดยปีปริมาณลูกค้าทั่งขนมเข่งไม่ได้ลงลด แต่ออเดอร์ลดลง คือ ลูกค้าปรับลดจำนวนสั่งซื้อ เช่น จากเคยซื้อ 5 กิโลกรัม แต่ปีนี้ซื้อแค่ 2 กิโลกรัม และลูกค้าบางรายสะท้อนมาว่า อยากได้ขนมเข่งลูกเล็ก เพื่อจะได้จำนวนขนมเข่งมากขึ้น เป็นการประหยัดเงิน เพราะตอนนี้รายได้เท่าเดิม แต่บางคนก็รายได้ลดลง แต่ค่าใช้จ่ายในแต่ละวันสูงขึ้น

ส่วนขนมเข่งแบบพื้นเมืองตรัง ก็ประสบปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้น เช่น ไม้ฟืน โดยเฉพาะใบตอง ที่มีราคาสูงขึ้น จากกิโลกรัมละ 10 บาท เป็นกิโลกรัมละ 18-20 บาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน