ปลัดมท.-ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ลงพื้นที่ปักษ์ใต้ เป็นประธานสักขีพยานลงนาม MOU ระหว่างเทศบาลนครยะลา ยกระดับพัฒนาผ้าไทยและผ้าพื้นถิ่น เพื่อบรรลุเป้าหมายประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีอาชีพ มีรายได้อย่างความยั่งยืน

วันนี้ (19 ก.พ. 65) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า วานนี้ (18 ก.พ. 65) ที่ห้องประชุมศรียะลา ชั้น 3 อาคาร 3 ศาลากลางจังหวัดยะลา อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ตนพร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญของกระทรวงมหาดไทยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ระหว่างนายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กับ นางสาวรัตนา ไมสัน ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน รักษาราชการแทนพัฒนาการจังหวัดยะลา โดยมี นายภิรมย์ นิลทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ร่วมเป็นสักขีพยาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ทิพยวรรณ นิลทยา ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดยะลา หัวหน้าส่วนราชการภูมิภาคสังกัดกระทรวงมหาดไทย นายอำเภอ ส่วนราชการภาคีการพัฒนา ภาคเอกชน ภาควิชาการ คณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดยะลา ผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายในเขตเทศบาลนครยะลา ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชน ร่วมในพิธี

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า “ผ้าไทยและผ้าพื้นถิ่น” ถือเป็นงานฝีมือ เป็นงาน Handcraft ซึ่งผลผลิตงานแต่ละชิ้น แต่ละประเภท ล้วนมาจากจิตวิญญาณ ความรักในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ที่ทรงคุณค่า เป็นอัตลักษณ์ของคนไทยในทุกภูมิภาค ซึ่งเราเรียกรวมกันว่า งานหัตถศิลป์ หัตถกรรม ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากกว่า 50 ปี นับตั้งแต่ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงพระวิริยะอุตสาหะในการปลุกเร้าให้พี่น้องคนไทยในภูมิภาคต่าง ๆ ในการโดยเสด็จพระราชดำเนินเคียงคู่พระบารมีพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปช่วยเหลือพี่น้องคนไทยในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง ขึ้นเขาขึ้นดอย คาบสมุทร ชายทะเล พระองค์เสด็จไปทั้งหมด ไปทรงคิดในการที่จะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยดีขึ้น เพราะสมัยก่อนคนไทยจะประกอบอาชีพเกษตรกรรมถึงร้อยละ 90 และเมื่อทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปที่ใด จะมีประชาชนมาเฝ้ารับเสด็จอย่างเนืองแน่น กระทั่งพระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นชุดของผู้คนที่มารับเสด็จ ที่ต่างหยิบชุดเสื้อผ้าที่ดีที่สุด สวยที่สุดมาสวมใส่ จึงทรงมีพระราชดำรัสตรัสถามผู้มาเฝ้ารับเสด็จ และทรงมีพระราชดำริแว๊บขึ้นมาว่าจะช่วยให้เขามีอาชีพเสริมเพิ่มจากการทำเกษตรกรรม ก็คือ การนำเอาภูมิปัญญาเรื่องทอผ้าเข้ามาใช้เป็นแห่งแรก เมื่อปี 2514 ที่อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม และในปี 2515 เกิดการก่อตั้งศูนย์ศิลปาชีพขึ้น เพื่อเป็นสถานที่ในการรับซื้อผ้าจากชาวบ้านที่พระองค์ท่านไปกระตุ้นปลุกเร้าขอให้ช่วยทอ โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เกิดเป็นหลักการทรงงานที่ว่า our loss is our gain “ขาดทุนของเราคือกำไรของชาวบ้าน” ซึ่งในทุกพระราชกรณียกิจต่างมุ่งสร้างประโยชน์สุขให้เกิดกับประชาชน โดยทรงยอมที่จะลงทุนลงแรงเพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้โดยสุจริต ด้วยความรู้ ความสามารถ ความขยันหมั่นเพียร ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้น นำโดย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ท่านได้สวมใส่ผ้าไทยไปทำงาน ไปลงพื้นที่ ไปสภา ไปในทุกที่ ทุกวัน ทำให้เกิดการส่งเสริมการผลิตผ้าทอ ผ้าไทย ผ้าไทยพื้นถิ่น เป็นจำนวนมาก เพราะเมื่อนายกรัฐมนตรีได้เป็นผู้เริ่มต้นในการสวมผ้าไทยตามหลักการ “ผู้นำต้องทำก่อน” ทำให้รัฐมนตรี ปลัดกระทรวงใส่ทุกวัน และข้าราชการทุกระดับ รวมไปถึงภาคเอกชน ภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศไทย พร้อมใจกันสวมใส่ผ้าไทย สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับกลุ่มทอผ้าเป็นอย่างยิ่ง

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นความโชคดีของพวกเราคนไทยที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 4 พฤษภาคม 2562 ว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ด้วยพระราชหฤทัยที่แน่วแน่ในการทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด พระบรมราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับปวงชนชาวไทย รวมไปถึงสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ในการสืบสานพระราชปณิธานในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ดังตอนหนึ่งของพระราชดำรัสในโอกาสเสด็จฯทรงเปิดงานวันสตรีไทย 1 สิงหาคม 2562 ที่ว่า “ข้าพเจ้ามีความตั้งมั่นที่จะสนองพระเดชพระคุณพระมหากรุณาธิคุณ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เหมือนดั่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด และแผ่ขยายพระบารมีแห่งสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี…” โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงมีพระราชปณิธานที่จะส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ จากภูมิปัญญา งานหัตถศิลป์ หัตถกรรม ที่ล้วนแล้วแต่เป็นงานที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ประชาชน ดังนั้น จึงขอแสดงความยินดีกับจังหวัดยะลา ที่ได้มีการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงในวันนี้ ถือเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นจังหวัดแรกที่จะร่วมขับเคลื่อนกับทุกภาคส่วน ซึ่งจริง ๆ แล้ว ผ้าไทยที่เราสวมใส่เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ แค่เพียงเราใส่ผ้าไทย มันหมายถึงชีวิตและรายได้ที่กลับไปสู่ครอบครัวในชุมชน ผ้าหนึ่งผืนคือลมหายใจของพี่น้องประชาชน ทุกผืนต้องใช้เวลา และจะเป็นสิ่งที่ทำให้จังหวัดยะลาจะเอาชนะความยากจนได้สำเร็จ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า และยังนับเป็นเตชะบุญของประเทศไทยที่มี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงกระโดดลงมาช่วยในการสนองพระบรมราชปณิธาน ดังปรากฏในพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ในพิธีงานโอทอปซิตี้ ปี 2563 ความว่า “ผลิตภัณฑ์ OTOP เป็นการสืบสาน รักษา ต่อยอด ผลผลิต ทางวัฒนธรรม ในทุกภาคของประเทศ ที่จะทำให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน ด้านเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิต” และได้พระราชทานแบบลายผ้า “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี” ทำให้เศรษฐกิจฐานรากของพี่น้องผู้ประกอบการโอทอปดีขึ้น นอกจากนี้ ยังได้พระราชทานแบบผ้าลายท้องถิ่นถึง 3 ลาย คือ “ปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง” “ท้องทะเลไทย” และ “ป่าแดนใต้” ที่ทรงได้แรงบันดาลพระทัยจากการเสด็จไปทอดพระเนตรงานศิลปหัตถกรรมจากภูมิปัญญาพื้นถิ่นในภาคใต้หลายครั้ง ทรงพบเห็นวิถีชีวิตและธรรมชาติของภาคใต้ที่มีเอกลักษณ์ แนวพระดำริทั้งหมดถูกถ่ายทอดลงบนผ้าลายบาติกพระราชทานนี้ และล่าสุดพระองค์ได้พระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” โดยทรงต่อยอดมาจาก “ผ้าขิดลายสมเด็จ” ของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทำให้เราเห็นได้ว่า พระองค์ไม่เคยละทิ้งภูมิปัญญาผ้าไทยของบรรพบุรุษเลย ทรงแสดงให้เห็นว่าการผลิตงานหัตถศิลป์ หัตถกรรม สามารถประดิษฐ์คิดค้นลายใหม่ได้ โดยมีพื้นมาจากลายเก่า สามารถใช้จินตนาการในการออกแบบลวดลายโดยไม่ต้องคิดใหม่ก็ได้ ทำให้มีผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ มีทางเลือกให้ลูกค้า ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งพระองค์ท่านทรงมีเป้าประสงค์ซ่อนเร้นอยู่ คือ ความสุขของอาณาประชาราษฎร ทำให้ประชาชนพึ่งพาตนเอง ใช้ความรู้ความสามารถตนเอง ทำให้พี่น้องประชาชน พี่น้องโอทอป พี่น้องกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กลุ่มศิลปาชีพ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน มีรายได้ที่ดีขึ้นจากการที่คนไทยสวมใส่ผ้าไทย ผ้าท้องถิ่น เงินที่หมุนออกจากเราไป ก็จะกลับไปถึงผู้ผลิตชั้นต้น ทั้งคนเขียนลาย คนที่ย้อมสี คนที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม คนที่ทำ Packaging คนที่มายืนขาย คนที่ทำหน้าที่ขนส่ง อันทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นเป็นหลายเท่า

“สิ่งสำคัญที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงทำควบคู่กับการออกแบบลาย คือ ทรงพระราชทานเทคนิคการเลือกสีผ่าน Trendbook และทรงเน้นย้ำให้ใช้สีธรรมชาติเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม การปรับปรุง Packaging ปรับปรุงลวดลาย ตัดเย็บให้ประณีต พิมพ์ให้ประณีต ทอให้ประณีต และไม่หยุดยั้งในการพัฒนาฝีมือ นำมาสู่การประกวดประขัน ทั้งทรงเน้นการส่งเสริมให้เด็กรุ่นใหม่เข้ามาสืบทอด ดังที่พระองค์สืบทอดพระราชปณิธานสมเด็จย่าของพระองค์ท่านเพื่อแบ่งเบาพระราชภาระพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และยังทรงเน้นส่งเสริมให้มืออาชีพด้านการตัดเย็บเสื้อผ้า ออกแบบ ดีไซเนอร์ชื่อดังของประเทศไทย เช่น หมู อาซาว่า จ๋อม เธียเตอร์ อู๋ วิชระวิชญ์ เป็นต้น มาเป็น Coaching ให้กับผู้ประกอบการทอผ้าในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เกิดการเพิ่มมูลค่า ทั้งยังพระราชทาน Theme ในการส่งเสริมการใช้ผ้าไทยว่า “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ซึ่งล้วนทำให้พี่น้องประชาชน มีฐานะความเป็นอยู่ที่มั่นคงขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และส่งผลให้ลูกหลานกลุ่มทำผ้าทั้งหลายมีความกระหายอยากที่จะสืบสานภูมิปัญญาของพ่อแม่ปูย่าตายายพี่ป้าน้าอา เพราะภาคภูมิใจ และสามารถทำให้มีเงิน มีรายได้เลี้ยงครอบครัว ส่งเสียเลี้ยงดูลูกให้เรียนได้ ยึดเป็นอาชีพได้ ขอให้ได้ช่วยกันรำลึกนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของทุกพระองค์ และมีกำลังใจในการเป็นผู้นำสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ดีงาม ช่วยกัน Change for Good ให้เกิดขึ้น เพื่อให้เงินหมุนเวียนช่วยเหลือคนไทยด้วยกัน เมื่อไทยช่วยไทย ประเทศชาติก็จะได้เจริญอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

ช่วงท้าย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยังได้เน้นย้ำถึง การน้อมนำแนวพระราชดำริ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งมีพื้นฐานที่ง่ายที่สุด คือ การพึ่งพาตนเอง ทั้งการพึ่งพาตนเองในระดับครัวเรือน และชุมชน ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพยายามมรณรงค์ปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ซึ่งพืชผักสวนครัวสำคัญ เลี้ยงเป็ด ไก่ กบ ปลา ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ต้องส่งเสริมให้เด็กที่เรียนในโรงเรียน ได้มีสิ่งที่เราเรียกว่า “พลปัญญา” คือ ทักษะในการปลูกพืชผักสวนครัว กวาดบ้าน ทำกับข้าว เลี้ยงปลา ซ่อมข้าวของเครื่องใช้ เพื่อช่วยเหลือตนเองได้ ช่วยเหลือพ่อแม่ได้ ควบคู่กับการมี “วุฒิปัญญา” คือความรู้ในการเรียนหนังสือ รวมถึงส่งเสริมความผูกพันในความเป็นไทย ผูกพันกับความเป็นยะลา ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ผ่านหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทย และสารคดีเฉลิมพระเกียรติราชวงศ์จักรี เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ที่ถูกต้องและมีความรัก ความสมัครสมานสามัคคี ความภาคภูมิใจ ในความเป็นคนไทย อันจะทำให้ประเทศชาติเกิดความมั่นคงอย่างยั่งยืนสืบไป

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างเทศบาลนครยะลาและสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดยะลาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำกรอบสำหรับความร่วมมือแบบไม่ผูกขาดและอำนวยความสะดวก เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาคี 5 ด้าน ได้แก่ 1) การยกระดับการพัฒนา ส่งเสริมช่องทางการตลาดและการอนุรักษ์ผ้าไทยและผ้าพื้นถิ่นจังหวัดยะลา 2) การให้คำปรึกษา การสนับสนุนองค์ความรู้และการแลกเปลี่ยนข้อมูล 3) การพัฒนาคุณภาพชีวิต อาชีพและความเป็นอยู่ของประชาชนโดยการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) 4) การสนับสนุนการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และ 5) การพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน