ชาวมานิ ร้องกสม.เข้าไม่ถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ศิลปินเผยไม่มีโอกาสเลือกแม้แต่หลังคาบ้าน สะท้อนปัญหาเรื่องที่ดิน พื้นที่ดั้งเดิมถูกเบียดขับ

วันที่ 24 ก.พ.65 เพอร์เฟครูมรีสอร์ต นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ร่วมหารือกับนางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาชาวบ้านกลุ่มเปราะบาง ใน จังหวัดสตูล อาทิ กลุ่มชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะ กลุ่มชาวมันนิ หรือ มานิ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องที่ดินและที่อยู่อาศัยซึ่งประชาชนกลุ่มนี้กำลังเผชิญปัญหาถูกเบียดขับจากที่อยู่อาศัยดั้งเดิม

นางปรีดา เล่าให้นายเอกรัฐ ฟังถึงกรณีที่มีชาวมานิ มายื่นหนังสือร้องเรียนกับ กสม. เรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต การดำรงชีวิตในวิถีดั้งเดิม การประกอบอาชีพ รวมถึงการถูกให้ออกจากพื้นที่ทำกิน ส่งผลกระทบต่อชาวมานิ และขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยพิจารณาในประเด็นนี้ด้วย

ขณะที่ นายเอกรัฐ เน้นย้ำถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้ดำเนินการตามหน้าที่ของจังหวัด และเกิดสมดุลที่ดินทำกินกับธุรกิจการท่องเที่ยวซึ่งต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 ก.พ.65 65 เวลา 17.45 น. ผู้แทนเครือข่ายมานิ ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มห้วยหนาน (เขาน้ำเต้า) กลุ่มวังนาใน กลุ่มมานิภูผาเพชร กลุ่มมานิวังคราม และกลุ่มราวปลา ในจังหวัดสตูล เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ผ่านนางปรีดา กรณีไม่สามารถเข้าถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่สามารถซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและไม่สามารถประกอบอาชีพได้อย่างอิสระ ฯลฯ

รวมถึงการไม่ได้รับการจัดสรรที่ดิน ตาม นโยบายของคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และยังถูกไล่ให้ออกจากพื้นที่ ซึ่งนางปรีดา กล่าวว่าจะนำข้อร้องเรียนไปเสนอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อพิจารณา และดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป

จิตติมา ผลเสวก ศิลปินซึ่งทำงานใกล้ชิดชุมชนและลงพื้นที่เก็บข้อมูลชาวมานิ เขียนบทความระบุว่า ปัจจุบันมานิกระจายตัวกันอยู่เป็นกลุ่มๆละราว 30-40 คน บริเวณเทือกบรรทัดในจังหวัดสตูล ตรัง พัทลุง สงขลา และเทือกสันกาลาคีรีในสามจังหวัดภาคใต้ ส่วนหนึ่งอยู่ตามสวนตามไร่ของชาวบ้านที่มานิเรียกว่าคนบ้าน ส่วนหนึ่งยังอยู่ตามป่าลึก

จิตติมา ระบุว่า แต่เดิมมานิมักจะเลือกที่พำนักในทำเลป่าที่มีตาน้ำไหล เพื่อความสะดวกในการดื่มกิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นต้นน้ำสายต่างๆที่มีน้ำตกสวยงามน่าระเริงเล่น เหมาะต่อชีวิตที่ต้องการสถานที่ธรรมชาติสำหรับคนบ้าน เพื่อผ่อนคลายหลังจากตรากตรำทำงานหาปัจจัยยังชีพ

เมื่อสถานที่เยี่ยงนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวมานิก็กลายเป็นสิ่งประดับหนึ่ง ซึ่งนักท่องเที่ยวได้มาชมความเป็นอื่นที่ตัวเองไม่มี มาแสดงความเห็นใจและช่วยเหลือ ตามที่ถูกปลูกฝังกันมาว่า เป็นคนไทยต้องมีน้ำใจช่วยเหลือกัน

ศิลปินรายนี้ ระบุด้วยว่า สถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งมีชาวมานิพำนักอยู่ในขนำ (กระท่อม) ที่ปลูกด้วยไม้ไผ่มุงหลังคาด้วยใบไม้และหญ้าคา เคยมีหน่วยงานเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิจัดหากระเบื้องมามุงหลังคาให้ แต่มีบางคนที่ดูแลมานิกลุ่มนี้บอกว่าถ้ามุงหลังคาด้วยกระเบื้องต่อไปจะมีใครเขามาสงสาร จะไม่มีใครบริจาคของให้ บางคนมีความเห็นว่าเสาขนำโยกเยกอาจจะไม่สามารถรับน้ำหนักกระเบื้อง

“เฒ่าไข่ชาวมานิที่ฉันคุยด้วยบอกว่า อยากได้หลังคาดีๆ ฝนจะได้ไม่รั่ว ของไม่เปียก ลูกหลานจะได้ไม่เป็นหวัดขี้มูกย้อย คนที่มาเขาคงไม่ได้มาดูหลังคาบ้านมานิแต่เขามาดูหัวมานิมากกว่า ถ้าไม่ให้ใช้กระเบื้องก็ขอเป็นสังกะสีแล้วจะใช้หญ้าคาปูทับก็ได้” จิตติมาระบุ และว่า อาจจะเป็นคำพูดซื่อๆที่ออกมาจากหัวใจ เพราะไม่คิดว่ามานิจะช่างเสียดสี ส่วนใครจะขำขื่นกับคำพูดนี้ก็ได้ ขื่นกับมานิผู้ไม่สามารถเลือกแม้แต่หลังคาที่พำนัก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน