โวยนโยบาย เจอ แจก แต่ไม่จบ โดยเฉพาะกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำ ซึ่งถูกกักตัว หยุดงาน ไม่มีรายได้ แต่ไร้ข้าวกล่อง-ถุงยังชีพ บางรายต้องยอมกู้นอกระบบมาประทังชีวิต
วันที่ 22 มี.ค. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากกระทรวงสาธารณสุขให้บริการประชาชนผู้ติดเชื้อโควิด 19 แบบเจอ แจก จบ เพื่อเตรียมดำเนินการให้โรคโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่น และให้ผู้ป่วยสีเขียว หรือสีเหลือง รักษาตัวเองอยู่ที่บ้าน ให้สามารถออกหาซื้ออาหารได้ ขณะที่ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงก็ให้กักตัวอยู่กับบ้าน และยกเลิกการแจกอาหารกล่อง หรือถุงยังชีพอย่างสิ้นเชิง
ล่าสุดพบว่าทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มคนเมือง ที่บางส่วนมีอาชีพรับจ้างทั่วไปแบบหาเช้ากินค่ำ มีรายได้รายวัน บ้านต้องเช่าข้าวต้องซื้อ ซึ่งเมื่อต้องกักตัว หรือรักษาตัวเองอยู่กับบ้าน ทำให้ไม่สามารถออกไปทำงานได้ ก็เท่ากับว่าไม่มีรายได้สิ้นเชิง แต่ยังต้องกินต้องใช้อยู่ทุกวัน ขณะที่ทางเทศบาล หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ก็ออกมาระบุว่า ขณะนี้ไม่มีงบที่จะดูแลเรื่องอาหารการกินให้อีกแล้ว
ดังนั้น บางครอบครัวจึงต้องหาทางออกด้วยการไปกู้ยืมเงินนอกระบบ เพื่อนำมาซื้ออาหารกินกันเอง แม้ว่าต้องจ่ายดอกเบี้ยที่สูงมากก็ตาม ซึ่งนโยบายของรัฐดังกล่าว จึงเท่ากับเป็นการผลักภาระให้กับประชาชน ที่เดือดร้อนหนักจากสถานการณ์โควิด รวมทั้งค่าครองชีพที่แพงมากอยู่แล้ว ให้ยิ่งเดือดร้อนหนักมากยิ่งขึ้น
ขณะที่ อสม.ซึ่งเป็นกำลังหลักในการดูแลประชาชน จำนวนมากก็ติดเชื้อโควิด แต่ก็ยังพยายามที่จะหาทางช่วยเหลือชาวบ้านในความรับผิดชอบทุกวิถีทาง ทั้งพยายามโทรศัพท์ประสานขอถุงยังชีพจากฝ่ายต่างๆ เพื่อช่วยชาวบ้าน เช่น รพ.ก็ได้ตัดเรื่องอาหารกล่อง และถุงยังชีพออกไปแล้วตามระบบการรักษารูปแบบใหม่ ส่วนท้องถิ่นได้รับคำตอบว่า ไม่มีงบประมาณ ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก ขณะที่ภาพรวมทั้งจังหวัดตรัง ขณะนี้มี อสม.ติดเชื้อแล้วประมาณ 2,000 ราย
ตัวแทน อสม.และชาวบ้าน กล่าวว่า แถวละแวกบ้านของตน ตอนนี้มีผู้ที่ต้องรักษาตัวจากการติดเชื้อ และคนสัมผัสเสี่ยงสูงก็ต้องกักตัวกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ติดกันยกครอบครัวหลังละ 2-5 คน บางหลังต้องหยุดงานกันทั้งครอบครัวตามมาตรการควบคุมโรค ส่งผลให้พวกตนไม่มีรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มรับจ้างทั่วไป ที่ปกติมีรายได้แค่วันละ 250 บาทเท่านั้น หรือคนที่มีอาชีพค้าขาย หรือบางครอบครัวมีคนสูงอายุที่ไม่มีรายได้อะไรแล้ว
รวมทั้งเด็ก ๆ ก็ต้องมาถูกกักตัวด้วย สร้างภาระในเรื่องอาหารการกิน บางคนซื้อด้วยเงินจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ซื้อมาก่อนแล้ว บางคนมีเพียงเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จนทำให้พวกตน และหลายคน ต้องหาทางออกด้วยการไปยืมเงินนอกระบบ ทั้งที่ดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 20 หรือบางรายสูงถึงร้อยละ 80 ก็มี เพื่อนำมาใช้จ่ายในช่วงนี้ไปก่อน
เมื่อพ้นระยะกักตัวแล้ว พวกตนค่อยไปทำงานมาใช้หนี้ เช่น ยืมมา 1,000 บาท 10 วัน ตกลงจ่ายดอก 600 บาท หรือบางหลังต้องยืม 3,000 -5,000 บาท เพราะคนในครอบครัวติดเชื้อต้องกักตัวทั้งหมด โดยตกลงกับเจ้าหนี้ไว้ว่า ทั้งดอก ทั้งต้น จะขอทำงานส่งคืนให้เมื่อหายจากโควิด แล้วสามารถกลับไปทำงาน หรือขายของได้
ส่วนหน่วยงานท้องถิ่น แรกๆ ก็นำอาหารกล่องมาแจก แต่เดี๋ยวนี้เขาบอกว่าไม่มีงบแล้ว โดยอาหารหลักของพวกตนตอนนี้ก็คือ ไข่ไก่ มาม่า เพราะประหยัดที่สุด และจำยอมต้องอดทนให้ถึงที่สุด เพื่อให้ผ่านพ้นสถานการณ์โควิด จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่จริง เพื่อสำรวจสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน โดยรายไหนที่เดือดร้อนมาก ๆ อย่างน้อยก็เอาถุงยังชีพมาให้ ก็ยังดี เพื่อให้ชาวบ้านได้ช่วยตัวเองในเบื้องต้น เพราะเศรษฐกิจก็ไม่ดี งานก็ไม่ได้ทำ
นอกจากนั้น บางชุมชนยังมีผู้ถูกกักตัวกันเป็นจำนวนมาก แบบบ้านติด ๆ กันเลย ต้องใช้วิธีการไหว้วานคนข้างบ้านที่ยังไม่ป่วย ซึ่งยังเหลือเพียงไม่กี่คน ให้ช่วยไปซื้อข้าวของมาวางไว้หน้าบ้านแต่ละหลัง เพื่อจะได้กินได้ใช้ รวมทั้งไม่มีเจ้าหน้าที่มาพ่นยาฆ่าเชื้อใดๆ อีกแล้ว ปล่อยให้ประชาชนในแต่ละชุมชน ดูแลตัวเอง แบบตัวใครตัวมัน ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก หรือรัฐจบ แต่ชาวบ้านไม่จบ