ปลัดมท.บรรยายพิเศษในการประชุมแม่บ้านมท.17จว.ภาคเหนือ เน้นย้ำเป็นกำลังสำคัญในการ Change for Good เพื่อให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รับสิ่งที่ดีอย่างยั่งยืน

วันนี้ (22 มี.ค. 65) ที่หอประชุมสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์ลำพูน อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดและบรรยายพิเศษในการประชุมแม่บ้านมหาดไทยสัญจร ครั้งที่ 3 พื้นที่ภาคเหนือ ประจำปี 2565 โดยมี ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน นางปนัดดา เนาวรัตน์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดลำพูน นางกุลทรัพย์ ชื่นโกสุม นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ นางกุสุมาล พงษ์สิทธิถาวร นางจิรวรรณ เพ็ญพาส อุปนายกสมาคม นางศุภกาญจน์ โรจนโสทร กรรมการบริหารสมาคม นางอมรรัตน์ สืบตระกูล ชมรมแม่บ้านกรมที่ดิน ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด สมาชิกแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด 17 จังหวัดภาคเหนือ หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดในสังกัดกระทรวงมหาดไทย นายอำเภอ 8 อำเภอในพื้นที่จังหวัดลำพูน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟัง

ก่อนการประชุม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดกรวยถวายราชสักการะเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และนำ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และคณะ รับสมุดบันทึกแห่งความสุข (Calendar) และเจลแอลกอฮอล์พระราชทาน

จากนั้น ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ เปิดกรวยถวายราชสักการะเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ เปิดกรวยถวายราชสักการะเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และนำผู้เข้าร่วมประชุมร่วมขับร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ด้วยความจงรักภักดี

“นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่พระราชทานสมุดบันทึกแห่งความสุข (Calendar) และเจลแอลกอฮอล์พระราชทาน จึงขอเชิญชวนหัวหน้าส่วนราชการ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดทุกจังหวัด รวมถึงผู้เข้าร่วมงานในวันนี้ทุกท่าน ได้ร่วมกันบันทึกความดีงาม บันทึกสิ่งที่พวกเราไปช่วยกันทำ สิ่งที่พวกเราคิดจะไปทำ เพื่อช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากในสังคม ร่วมกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน รวมถึงคณะสงฆ์ และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อช่วยกัน Change for Good ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ที่เป็นเหมือนบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเรา อันเป็นการถวายความจงรักภักดีด้วยการปฏิบัติบูชา โดยพร้อมเพรียงกัน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า การประชุมแม่บ้านมหาดไทยสัญจรเป็นดำริของ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เพื่อให้พี่น้องแม่บ้านมหาดไทยเกิดความรัก ความสามัคคี ความร่วมมือในการช่วยกัน Change for Good ขับเคลื่อนสร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชน และพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของทุกครัวเรือนในประเทศไทย ซึ่ง “แม่บ้านมหาดไทย” ทำหน้าที่ทั้งในฐานะช้างเท้าหน้าและเท้าหลัง เป็นหลักให้กับครอบครัวมหาดไทยในพื้นที่จังหวัด โดยหากเราพูดถึงคำว่า “แม่” ในสังคมไทยตั้งแต่บรรพบุรุษของพวกเราทุกคนทำให้เห็นได้ว่า การจะรบทัพจับศึก เรามี “แม่ทัพ” การสร้างบ้านสร้างเมือง ก็มี “แม่พระธรณี” เราจะมีชีวิตรอด ทั้งในเรื่องการอุปโภค บริโภค ต้องมี “แม่พระคงคา” เราจะมีสิ่งที่เป็นอาหารหลักของคนไทย ชาวไร่ ชาวนา ต้องมี “แม่พระโพสพ” ดังนั้น สังคมไทยเราให้เกียรติ ให้การยอมรับ และยกย่อง “สตรีไทย” ให้เป็นเสาหลักของครอบครัว ของสังคม และชีวิตความเป็นอยู่ทุกมิติ แม้แต่เวลาลูกชายที่เป็นทหารจะไปศึกสงครามในอดีตหรือคนในปัจจุบันที่จะต้องไปทำงานที่เสี่ยงภยันตราย ก็จะนำเอา “ชายผ้าถุงแม่” ติดตัวไป เพื่อคุ้มครองชีวิตให้รอดปลอดภัย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่คู่กับสังคมไทย เน้นย้ำให้เห็นถึงสิ่งที่ยกย่องเชิดชูเกียรติ สิ่งที่พบเห็นอยู่ตลอดจนชินตา คือ ทุกครอบครัวจะดีได้ เพราะมีเพศแม่เป็นเสาหลักช่วยดูแล

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่รัฐบาลให้ความไว้วางใจและมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยต่อสู้กับศัตรูร้ายที่ทำให้พี่น้องคนไทยทนทุกข์ทรมาน ไม่มีความสุขเท่าที่ควรมาอย่างยาวนาน นั่นคือ “ความยากจนและความเดือดร้อนทุกเรื่องที่ประชาชนแต่ละครัวเรือนกำลังประสบปัญหาและไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เช่น ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีทะเบียนบ้าน ไม่มีเงิน” โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) มีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเป็นแม่ทัพใหญ่ ซึ่งประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดต้องอยู่เคียงข้างผนึกกำลังสมาชิกแม่บ้านมหาดไทยและเหล่ากาชาดจังหวัดที่ล้วนเป็นผู้มีจิตอาสา จิตเสียสละ ระดมสรรพกำลัง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันในการต่อสู้เอาชนะความยากจนและความเดือดร้อนของประชาชน ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย. 2565 และเนื่องในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 90 พรรษา ในวันที่ 12 ส.ค. 2565 สมาคมแม่บ้านมหาดไทยได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยตั้งเป้าหมายในการช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยให้ประชาชนมีบ้านหรือที่อยู่อาศัยที่ถูกสุขลักษณะ และช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่เดินไม่สะดวกหรือไม่สามารถเดินได้และไม่มีทุนทรัพย์ ให้มีรถวีลแชร์ทุกหลังคาเรือน โดยหากจังหวัดใดระดมสรรพกำลังให้ความช่วยเหลือแล้ว ยังมีบางส่วนขาดเหลือ ขอให้แจ้งมายังปลัดกระทรวงมหาดไทยหรือนายกสมาคมบ้านมหาดไทย เพื่อระดมสรรพกำลังจากภาคีเครือข่ายส่วนกลางสนับสนุนให้การช่วยเหลือต่อไป

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เน้นย้ำว่า ขอให้แม่บ้านมหาดไทยทุกจังหวัดได้น้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ตามโครงการ “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” โดยส่งเสริมให้ครัวเรือนใช้พื้นที่ภายในบ้านปลูกผักสวนครัว ปลูกสมุนไพร ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะทำให้ประชาชนพ้นจากความยากจน มีอาหารที่สะอาด ปลอดภัย ไม่ต้องเสียเงินซื้อ รวมถึงโครงการ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” ใช้พื้นที่สาธารณะริมข้างทางสองข้างถนน ปลูกต้นไม้ที่มีผล เพื่อเป็นประโยชน์กับส่วนรวม รวมถึงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ทำให้พี่น้องประชาชนทั้งคนไทยและคนต่างชาติที่อาศัยในผืนแผ่นดินไทยได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างครบถ้วน และน้อมนำพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้วยการส่งเสริมการใช้ผ้าไทย อันจะทำให้เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนเข้มแข็ง ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ นอกจากนี้ ทุกจังหวัดสามารถรณรงค์เชิญชวนให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไปร่วมสมัครเป็นอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะมูลฝอย ตามหลัก 3ช (3Rs) : ใช้น้อย Reduce ใช้ซ้ำ Reuse และนำกลับมาใช้ใหม่ Recycle รวมถึงส่งเสริมภาคีเครือข่ายผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดตั้ง “ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เป็นศูนย์กลางให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า การจัดประชุมแม่บ้านมหาดไทยสัญจร ทำให้ได้แม่บ้านมหาดไทยทุกจังหวัดได้มีโอกาสพบปะ แลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อเป็นประโยชน์ในการนำผลสำเร็จของจังหวัดอื่น ๆ ไปประยุกต์ขับเคลื่อนในพื้นที่ ครอบคลุมกิจกรรม 5 เรื่อง คือ 1) การสร้างความมั่นคงด้านอาหารตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยรณรงค์ให้ทุกครัวปลูกผักสวนครัว ซึ่งจากข้อมูลเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2564 มีครัวเรือนปลูกผักสวนครัวภายในบ้านแล้ว 12.6 ล้านครัวเรือน 1 ครัวเรือนประหยัดเงินค่าผักได้วันละ 50 บาท เมื่อคิดเป็นทั้งประเทศจะประหยัดเงินได้ 630 ล้านบาทต่อวัน 18,900 ล้านบาทต่อเดือน และคิดเป็น 229,950 ล้านบาทต่อปี 2) ให้แม่บ้านมหาดไทยทุกจังหวัดช่วยกันไล่ตะครุบคนที่อยู่ในพื้นที่ไปฉีดวัคซีนให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ต้านโควิด-19 3) โครงการครอบครัวมหาดไทยใส่ใจสิ่งแวดล้อม คัดแยกขยะแห้ง และขยะเปียก ขยะแห้งสามารถนำไปจำหน่ายได้ ส่วนขยะเปียก นำไปใส่ในถังขยะเปียกลดโลกร้อน ด้วยการใช้ถังที่มีฝาปิดตัดก้นถัง แล้วขุดหลุมดินให้ลึกประมาณ 80 เซนติเมตร นำถังวางลงไปบนหลุม และปิดฝา ภายใน 1 เดือนขยะเปียกจะกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ มีราคากิโลกรัมละกว่า 100-200 บาท ซึ่งหากประชาชนทำถังขยะเปียก จำนวน 21 ล้านคน หรือ 12 ล้านครัวเรือน จะผลิตขยะเศษอาหาร 2 ล้านตัน/ปี คาดว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกได้ 292,219 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ปีเทียบเท่ากับความสามารถในการดูดกลับคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ที่โตเต็มที่ จำนวน 25 ล้านต้น อันสามารถช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย 4) การส่งเสริมการใช้ผ้าไทย ตามโครงการพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมุ่งมาดปรารถนาในการสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนผู้ทอผ้าในชนบทต่าง ๆ โดยรณรงค์สวมใส่ผ้าไทยจำนวนวันเพิ่มขึ้น และ 5) รณรงค์ส่งเสริมการสร้างสุขอนามัยให้แก่เด็กเล็กและแม่ เติบโตอย่างถูกต้องตามเกณฑ์มาตรฐานสุขลักษณะ

“พวกเราเปรียบเสมือนญาติที่จะช่วยกันทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยในจังหวัดภาคเหนือทุกครัวเรือนได้รับสิ่งที่ดี คนที่ทุกข์ร้อนลำบากยากเข็ญก็ให้มีความสุขสบายและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คนที่ดีอยู่แล้วก็ให้ดียิ่งขึ้น จึงขอเป็นกำลังใจและฝากความหวังในการมุ่งมั่นทำงานที่ลำบากยากแค้น ที่ต้องช่วยเหลือคนอื่น และเป็นกำลังสำคัญทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ผู้คนไม่ทอดทิ้งกัน คนในสังคมมีความรัก ความเอื้อเฟื้อ ความเมตตา ดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ด้วยหลักการ “ผู้นำต้องทำก่อน” หยิบยกเรื่องที่ดี ชักชวนให้ทีมงาน และภาคีเครือข่าย คือ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคผู้นำศาสนา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ภาคสื่อมวลชน ร่วมกันขับเคลื่อนและสื่อสารกับสังคม เพื่อเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนได้ปฏิบัติตาม รวมทั้งหมั่นตรวจติดตามการทำงานและให้กำลังใจทีมงานในการทำงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่จะทำให้เกิดความสำเร็จ คือ พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน สมดังอุดมการณ์ของพวกเราครอบครัวมหาดไทยที่ปรารถนาจะช่วย “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องคนไทย” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

จากนั้น เป็นการเสวนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด 17 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ การรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 การคัดแยกขยะ การปลูกผักสวนครัวเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร การส่งเสริมการใช้ผ้าไทย การรณรงค์ส่งเสริมสร้างสุขอนามัยเด็กเล็กและแม่เติบโตอย่างถูกต้องตามเกณฑ์มาตรฐาน และในช่วงบ่ายเป็นการร่วมกันลงพื้นที่ศึกษาดูงานการส่งเสริมผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP นิทรรศการทอผ้าและย้อมสีธรรมชาติ ณ สถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย และดูงานการคัดแยกขยะ การบริหารจัดการขยะรีไซเคิลและสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ณ บ้านไร่น้อย ต.ม่วงน้อย อ.ป่าซาง จ.ลำพูน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน