ประชาคมหมู่บ้านริมโขงชายแดนไทย-ลาว ไม่เอาเขื่อนปากแบง หากทำระบบนิเวศน์เปลี่ยน เรียกร้องหน่วยงานให้ข้อมูลชุมชนด่วน นายอำเภอเผยส่งบันทึกถึงจังหวัด

วันที่ 13 พ.ย.65 นายอุดม อยู่อินไกร นายอำเภอเวียงแก่น จ.เชียงราย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีชาวบ้านริมแม่น้ำโขงจะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากแบง ในประเทศลาว ซึ่งเป็นการร่วมทุนกันระหว่างเอกชนไทยและจีน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) วางแผนจะเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า ซึ่งจุดสร้างเขื่อนอยู่ห่างจาก บ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น 97 กิโลเมตร ว่าภายหลังจากมีการรับฟังข้อมูลจากกลุ่มอนุรักษ์ สื่อมวลชน และจากชาวบ้านในพื้นที่บางส่วน ได้นำเข้าที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการ และท้องที่ท้องถิ่น ของอำเภอเวียงแก่น โดยมอบหมายให้ เจ้าหน้าที่ปกครองและผู้นำไปรับฟังชาวบ้าน รวบรวมความคิดเห็น ข้อกังวลจากชาวบ้านในพื้นที่ที่อยู่ริมแม่น้ำโขงและริมน้ำงาวเข้าไปในระยะ 15 กม.จากปากงาว

“จากการรับฟัง และการทำประชาคมหมู่บ้าน 4-5 แห่งในพื้นที่เสี่ยง ทราบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่รู้ข้อมูล และต้องการให้หน่วยงานที่ดูเรื่องนี้ลงมาพูดคุยให้ข้อมูลกับชาวบ้านในพื้นที่ ส่วนตนที่มารับตำแหน่งดูแลพื้นที่อำเภอเวียงแก่น 3 ปี ยังไม่รับรู้ข้อมูลเรื่องปากแบงและผลกระทบเลย จึงนำบันทึกผลการประชาคมและการรวบรวมข้อมูลส่งรายงานผ่าน ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วถึงความกังวลของชาวบ้านในพื้นที่ ในช่วงกลางเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา” นายอำเภอเวียงแก่นกล่าว

นายอุดม กล่าวว่า หากหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ได้ลงมาให้ข้อมูลและตอบคำถามประชาชนในชุมชนที่จะได้รับผลกระทบ อธิบายให้กับประชาชนเข้าใจในสภาพความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นน่าจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะตอนนี้แม้แต่หน่วยงานในพื้นที่เองก็ไม่มีข้อมูล จึงไม่สามารถตอบข้อกังวลของชาวบ้านได้

ด้าน นายสมหมาย อินต๊ะปัญญา ผู้ใหญ่บ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย กล่าวว่า หมู่บ้านห้วยลึกทำประชาคมกันแล้วโดยเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือบริษัทที่รับผิดชอบควรเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆกับชาวบ้านโดยเฉพาะเรื่องน้ำน้ำเท้อ หากมีการสร้างเขื่อนจริงปริมาณน้ำเท้อจะถึงไหน ถ้าสร้างเขื่อนแล้วน้ำไม่เท้อก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าน้ำเท้อแล้วชาวบ้านก็ไม่เห็นด้วย

“เราทำประชาคมเพื่อต้องการให้มาชี้แจงว่าน้ำจะเท้อหรือท่วมมั้ย เขาควรมาให้ข้อมูลกับชาวบ้านก่อน เพราะทุกวันนี้ชาวบ้านไม่มีข้อมูลอะไรเลย เราอยากรู้ว่าหากฝนตกเยอะๆ หากมีการสร้างเขื่อนน้ำจะล้นเอ่อถึงไหน และมีหน่วยงานไหนรับผิดชอบบ้าง”นายสมหมาย กล่าว

ด้าน นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าวว่า กรณีจะมีการสร้างเขื่อนปากแบง ที่ร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (draft PPA) ได้รับการตรวจสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) แล้ว ถ้ามีการเซ็นสัญญาก็จะมีการสร้างเขื่อนปากแบงทันที ทำให้ชาวบ้านที่กังวลเรื่องน้ำเท้อในหลายปีที่ผ่านมา และปัจจุบันหากน้ำเท้อ พื้นที่เกาะ ดอน ที่เป็นของไทยที่จะได้รับผลกระทบ ข้อมูลจึงเป็นเรื่องที่ต้องพูดให้พี่น้องชาวบ้านได้รับรู้ เท่าที่ติดตามทราบว่ามีการศึกษาแต่ไม่มีการเปิดเผยให้เป็นที่รับรู้กับสาธารณะในวงกว้าง และนำข้อมูลมาอธิบายในพื้นที่ ในปลายเดือนที่ผ่านมา กลุ่มรักษ์เชียงของได้ทำหนังสือสอบถามข้อมูลจากกรมทรัพยากรน้ำเพราะทราบว่ามีการศึกษา แต่ไม่มีการเปิดเผยและอธิบายให้คนในพื้นที่ได้เข้าใจ

“เป็นข้อมูลที่ต้องรีบเปิดเผยให้ชาวบ้านรู้ เพราะจะมีน้ำเท้อเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนประชาชน เพราะฉะนั้นต้องให้พวกเขาได้รับรู้ หากข้อมูลอื่นใดที่ยังไม่รู้ต้องเร่งรีบศึกษา เพื่อลดความกังวลว่าถ้าสร้างแล้วจะมีผลกระทบขนาดไหน และเอกสารข้อมูลของราชการที่เป็นข้อมูลทางเทคนิค เข้าถึงได้ยาก ที่ชาวบ้านยากจะเข้าใจถึงผลกระทบที่แท้จริงได้ หน่วยงานควรจะลงมาชี้แจงกับประชาชนในพื้นที่เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน” นายนิวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้กลุ่มรักษ์เชียงของ ได้ทำหนังสือลงวันที่ 25 ตุลาคม 2565 เพื่อขอเอกสารโครงการสำรวจภูมิประเทศเพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม/หน้าตัดลำน้ำ จ.เชียงราย จากการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง สปป.ลาว และได้รับการแจ้งจากกรมทรัพยากรน้ำแห่งชาติว่ามีข้อมูลเผยแพร่ในเว็บไซต์ เป็นรายงานด้านระบบฐานข้อมูล โครงการสำรวจภูมิประเทศเพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมจังหวัดเชียงราย จากการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง สปป.ลาว (มีนาคม 2562)

ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนระบุถึงสรุปผลการวิเคราะห์ การติดป้ายบอกระดับทะเลปานกลางสำหรับค่าระกับเสี่ยง 340 345 และ 350 เมตร ซึ่งมีฐานข้อมูลและพื้นที่เสี่ยงภัย ในหมู่บ้านริมแม่น้ำโขงของ จ.เชียงราย จำนวน 27 หมู่บ้าน อาทิ บ้านห้วยลึก ไทยเจริญ แจมป๋อง ห้วยเอียน อ.เวียงแก่น บ้านปากอิง ดอนมหาวัน เวียงแก้ว หัวเวียง ดอนที่ อ.เชียงของ บ้านท่าขันทอง อ.เชียงแสน เป็นต้น รายงานดังกล่าวระบุว่าการจัดทำแผนที่ดัชนีเพื่อแสดงผลลัพธ์ของพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ใช้สร้างเส้นชั้นความสูงและเพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่ตามค่าระดับความสูงวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมพร้อมระบุตำแหน่งสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ ครอบคลุมทั้งสิ้น 10,337 หลัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน