วันที่ 7 ก.พ. พระครูสิทธิธรรมวิภัช เจ้าอาวาสวัดราชบูรณะ อ.เมืองพิษณุโลก เปิดเผยว่า ทางวัดราชบูรณะ มีศาสนสถานที่บ่งบอกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากมาย และเป็นแหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ของจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งขณะนี้ทางวัดได้ประสานไปยังกรมศิลปากร เพื่อเตรียมขอให้บูรณะหอไตรเก่าแก่สมัยสุโขทัย ที่เป็นหอเก็บพระไตรปิฏก โดยมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมสมัยสุโขทัย ซึ่งมีเสากลม 16 ต้น ขณะนี้ได้ชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก

“โดยเฉพาะแผ่นกระเบื้องบนหลังคาไม้นั้นได้พุพังและพร้อมที่หล่นลงมาเสมอ เกรงว่าจะหล่นใส่นักท่องเที่ยวหรือประชาชนที่เดินทางมาเที่ยวชมวัด และทำให้สูญเสียหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ จึงอยากให้ทางกรมศิลปากร ได้เข้ามาตรวจสอบและบูรณะให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดต่อไป” พระครูสิทธิธรรมวิภัช

สำหรับหอไตรปิฏก วัดราชบูรณะ เป็นหอไตรคอนกรีตกว้าง 6 เมตร ยาว 6 เมตร สูง 11 เมตร มีเสาปูนกลมเรียง 4 แถว แถวละ 4 ต้น สูงต้นละ 4 เมตร มีบัวหัวเสากลับ 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นหอระฆัง ชั้นบนเป็นหอไตรเก็บรักษาพระคัมภีร์ต่างๆ หอไตรทำด้วยไม้สับแบบฝาประกบมีประตูทางเข้า 1 ประตู ทางด้านทิศใต้มีระเบียงกว้าง 1 เมตร เดินได้โดยรอบ มีหน้าบัน 4 ทิศ เป็นปูนปั้น มีช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ทุกมุมทั้ง 8 มุม

ส่วนด้านทิศเหนือและทิศใต้มีลายปูนปั้นรูปพระยาครุฑจับพระยานาค ส่วนที่ยอดหอไตร เป็นยอดเรียวแหลมคล้ายยอดของพระเจดีย์ที่มียอดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง รอบหอระฆังมีกำแพงแก้วล้อมรอบยาว 10 เมตร มีซุ้มประตูกำแพงแก้วด้านทิศใต้ ส่วนหอไตรนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน แต่หากพิจารณาตามรูปแบบสถาปัตยกรรมแล้วสันนิษฐานได้ว่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน