กรมควบคุมมลพิษ เตือนเหตุไฟไหม้บ่อขยะ ในช่วงฤดูหนาวถึงฤดูร้อน วอนหน่วยงานเข้มงวดเหตุเพลิงไหม้ ป้องกันกระทบต่อสุขภาพอนามัยประชาชน

1 ก.พ. 66 – นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) เปิดเผยว่า ช่วงเดือน ม.ค. 66 มีเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะมาแล้ว 4 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 5 ม.ค. เกิดเหตุเพลิงไหม้บ่อขยะในพื้นที่ดงสีบู ต.ไก่คำ อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ

ซึ่งเป็นบ่อฝังกลบขนาดใหญ่ที่สุดของจ.อำนาจเจริญ พื้นที่ 95 ไร่ เกิดจากคนเก็บขยะคัดแยกของเก่าเผาซากสายไฟเพื่อเอาทองแดงบริเวณใกล้บ่อขยะ

ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 ม.ค. เกิดเพลิงไหม้ที่พักขยะเก่าในพื้นที่ของเทศบาลเมืองเพชรบุรี ยังไม่ทราบสาเหตุ ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 28 ม.ค. เกิดเพลิงไหม้บ่อขยะของเทศบาลนครขอนแก่น บ้านคำบอน ต.โนนท่อน อ.เมือง จ.ขอนแก่น ไม่ทราบสาเหตุ

และครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 30 ม.ค. เกิดเหตุเพลิงไหม้บ่อขยะของบริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด ต.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ที่ดำเนินธุรกิจกำจัดขยะชุมชนโดยนำขยะมาใช้ประโยชน์เป็นพลังงานทดแทน อยู่ระหว่างการสืบสวนหาสาเหตุ

นายปิ่นสักก์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวไปถึงช่วงฤดูร้อน จะเกิดเพลิงไหม้บ่อขยะได้ง่ายในทุกพื้นที่ คพ. จึงขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดในการดำเนินมาตรการป้องกันเหตุเพลิงไหม้ในพื้นที่บ่อขยะที่รับผิดชอบ และป้องกันต้นเพลิงที่อาจเกิดจากความประมาทหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ต่างๆ

เช่น ควรกลบทับขยะด้วยดินทุกวัน ห้ามสูบบุหรี่หรือก่อกองไฟ หรือเผากำจัดขยะหรือเศษกิ่งไม้ ห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาคุ้ยเขี่ยขยะและเผาขยะเอาวัสดุมีค่า จัดหน่วยเฝ้าระวังตรวจตราป้องกันการเกิดเพลิงไหม้บ่อขยะและพื้นที่ใกล้เคียง

จัดเตรียมอุปกรณ์ดับเพลิงไว้ภายในบ่อขยะ และขอความร่วมมือจากประชาชนที่อยู่โดยรอบบ่อขยะคอยสังเกต หากพบควันไฟหรือไฟไหม้ในบริเวณบ่อขยะให้รีบแจ้งหน่วยงานเจ้าของบ่อโดยเร็ว เพื่อป้องกันการลุกลามของไฟจนเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงในพื้นที่

ด้านน.ส.ธีราพร วิริวุฒิกร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดการกากของเสียและสารอันตราย คพ. กล่าวว่า ไฟไหม้บ่อขยะทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก ทั้ง PM10 และ PM2.5 และก๊าซพิษอื่นๆ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไฮโดรเจนคลอไรด์ ฟอร์มาลดีไฮด์ เป็นต้น

รวมทั้งอาจมีน้ำเสียจากการดับเพลิงไหลล้นสู่พื้นที่ใกล้เคียงหรือแหล่งน้ำสาธารณะ ทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ สิ่งแวดล้อม และกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่

บางกรณีต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงอันตราย ซึ่งต้องใช้งบประมาณ เครื่องมืออุปกรณ์และเจ้าหน้าที่จำนวนมากในการจัดการระงับเหตุ การดูแลสุขภาพประชาชน และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน