นักวิชาการ ห่วงระเบียบ-กฎหมาย อาจเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของการท่องเที่ยวไทย

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ผ่านมาได้สร้างผลกระทบเป็นลูกโซ่กับเศรษฐกิจทั่วโลกและอุตสาหกรรมทุกภาคส่วนต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี โดยหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้เป็นอย่างมากคืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ เช่น โรงแรมและที่พัก ตัวแทนการท่องเที่ยว ธุรกิจท่องเที่ยวและกิจกรรม ธุรกิจและบริการด้านอาหาร และธุรกิจการเดินทาง เป็นต้น

ซึ่งตั้งแต่ปี 2563 ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศและเศรษฐกิจไทยต้องหยุดชะงัก จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย กว่า 39.9 ล้านคน ในปี 2562 ลดลงเหลือเพียง 0.43 ล้านคน ในปี 2564 หรือลดลงไปกว่าร้อยละ 98.92 ในช่วงระยะเวลาห่างกันเพียงแค่ 2 ปี เท่านั้น ทั้งนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นกลไกขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 22 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP)

ผศ.ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว ที่ปรึกษาสำนักวิจัย มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต เปิดเผยว่า หลังจากจุดสูงสุดของการแพร่ระบาดของโรค เศรษฐกิจไทยเริ่มส่งสัญญานการฟื้นตัวที่ดีขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการของภาครัฐ เช่น การยกเลิกพื้นที่ควบคุม การผ่อนคลายการเปิดสถานบริการ และสถานบันเทิง การจำกัดเวลาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร และการเปิดพรมแดนระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

โดยรัฐบาลไทยตั้งเป้าหมายที่จะฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวที่ถือว่าเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีจำนวนแรงงานที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยว กว่า 4.4 ล้านคน หรือกว่าร้อยละ 11.47 ของกำลังแรงงานของประเทศ

ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รายงานภาพรวมการท่องเที่ยวในปี 2565 พบว่า ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมกว่า 11.1 ล้านคน และมีรายได้จากการท่องเที่ยวสะสมประมาณ 3.6 แสนล้านบาท โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย อินเดีย สิงคโปร์ ลาว เวียดนาม เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา กัมพูชา และเยอรมนี

และในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 จังหวัดที่ทำรายได้จากการท่องเที่ยวสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ ภูเก็ต 127,927 ล้านบาท ชลบุรี 13,283 ล้านบาท สุราษฎร์ธานี 7,586 ล้านบาท เชียงใหม่ 4,246 ล้านบาท สงขลา 3,602 ล้านบาท พังงา 2,582 ล้านบาท เชียงราย 1,585 ล้านบาท กระบี่ 1,408 ล้านบาท ประจวบคีรีขันธ์ 854 ล้านบาท และหนองคาย 526 ล้านบาท

แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามสนับสนุนฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างเต็มกำลังผ่านนโยบายและมาตรการต่างๆ จำนวนมาก ได้แก่ การยกเลิกการลงทะเบียนในระบบ Thailand Pass การส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศภายในประเทศไทย กิจกรรมและโครงการต่าง ๆ เช่น มาตรการ Test & go, Phuket Sandbox, Roadshow Thailand 2023 และมาตรการ ABC สำหรับดึงดูดเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศ มุ่งเน้น

การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ มีคุณภาพ เพื่อกระจายรายได้ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ตามภูมิภาคให้เกิดการเติบโตอย่างเข้มแข็ง เป็นฐานรากของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป แต่ด้วยบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้นโยบาย หรือกฎหมายบางส่วนไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ในปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม และกำลังกลายเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทย

ในช่วงก่อนโควิดประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวหลากหลายสัญชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศเกือบ 40 ล้านคน โดยในแต่ละกลุ่มมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป อาทิ นักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมเดินทาง
เป็นกลุ่มใหญ่กับกลุ่มทัวร์ มีการจับจ่ายใช้สอยสินค้า-บริการ และมีมูลค่าการซื้อของฝากสูงกว่านักท่องเที่ยวชาติอื่น ในขณะที่นักท่องเที่ยวชาวยุโรปส่วนใหญ่นิยมมาพักตากอากาศ เพื่อหลีกเลี่ยงอากาศหนาว ชื่นชอบการเดินทางด้วยตัวเอง นิยมพักแรมที่ใดที่หนึ่งเป็นระยะเวลานาน นิยมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และท่องเที่ยวยามค่ำคืน

ฉะนั้นการจำกัดเวลาการจำหน่ายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 รวมไปถึงกฎหมายที่กำหนดระยะเวลาการเปิดปิดของสถานบันเทิง ซึ่งเป็นกฎระเบียบที่อาจจะกระทบกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวบางส่วน และอาจจะส่งผลกระทบกับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวของไทยได้ ซึ่งภาครัฐควรจะมีมาตรการที่ผ่อนปรนให้มากขึ้นในพื้นที่ท่องเที่ยวเพื่อสอดรับกับมาตรการหรือนโยบายในการกระตุ้น สนับสนุน และส่งเสริมการท่องเที่ยว ภายหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด 19

นอกจากประเด็นเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการบริโภคแอลกอฮอล์แล้วไทยยังมีกฎหมายที่กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร แต่เมื่อพิจารณา 10 อันดับแรกของประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยในปี 2562 (ช่วงก่อนโควิด) จะพบว่ามีนักท่องเที่ยวจำนวนถึง 21.6 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 78 ของนักท่องเที่ยวในกลุ่มนี้ที่เดินทางมาจากประเทศที่บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าถูกกฎหมาย อันได้แก่ จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และในประเทศเหล่านี้ยังมีแนวโน้มการนิยมสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทนบุหรี่แบบเดิมกันมากขึ้นเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพลงด้วย

นอกจากนั้นเมื่อตรวจสอบผลกระทบของประเด็นกฎหมายนี้ต่อการท่องเที่ยวจะพบว่าในปี 2561 ยังเคยมีข่าวที่คณะทูตจากหลายประเทศได้แสดงความกังวลถึงการจับกุมนักท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆ เพื่อดำเนินคดีจากการครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งส่งผลให้เสียเวลาเสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี ที่สำคัญคือสร้างภาพลบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยและเกิดเป็นประสบการณ์ที่ไม่ดีกับนักท่องเที่ยว ดังที่เป็นข่าวล่าสุดในกรณีการจับกุมดาราไต้หวันเพื่อรีดไถเงินแลกกับการไม่ดำเนินคดี

จากตัวอย่างกฎระเบียบในสองประเด็นนี้ของประเทศไทย จะเห็นได้ว่าการกำหนดกฎหมาย หรือหลักเกณฑ์ที่เข้มงวด ไม่สอดคล้องกับแนวคิดของสังคมโลก อาจก่อให้เกิดความกังวลต่อนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม โดยข้อห้ามใดๆ ก็ตามเมื่อมีการกำหนดขึ้นเป็นตัวกฎหมายใด ๆ แล้วย่อมมีผลบังคับใช้กับทุกคน ไม่เว้นแม้กระทั่งนักท่องเที่ยวที่มาจากต่างประเทศต่างวัฒนธรรมที่จะมีความคิดพื้นฐานที่ต่างกันว่าสิ่งใดผิดหรือถูกกฎหมาย

โดยยังมีอีกตัวอย่างที่น่าสนใจในต่างประเทศ คือ การห้ามการมีเพศสัมพันธ์นอกการสมรสของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวกลุ่มหนุ่มสาวหรือคู่รักที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศอินโดนีเซียที่จะมีความเสี่ยงถูกจับในการกระทำที่ผิดกฎหมายได้ โดยประเด็นความแตกต่างของกฎระเบียบบนพื้นฐานของสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันเหล่านี้ อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกประเทศในการเดินทางมาท่องเที่ยวได้

ดังนั้น นอกจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบต่าง ๆ แล้ว ประเทศไทยยังจำเป็นต้องพิจารณาทบทวนกฎหมายกฎระเบียบที่ยังไม่ทันสมัยหรือขัดแย้งกับพื้นฐานความคิดความเชื่อของคนส่วนใหญ่ในสังคมโลก ซึ่งกฎหมายกฎระเบียบนี้อาจจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อภาคการท่องเที่ยวตลอดจนภาคส่วนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวได้ในระยะยาว จนมีผลให้การขับเคลื่อนประเทศและเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างเชื่องช้าหรือต้องหยุดชะงัก

ทั้งนี้ รัฐจำเป็นต้องเร่งผลักดัน ส่งเสริม และสนับสนุนธุรกิจและภาคส่วนอุตสาหกรรมดังกล่าวให้สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถขับเคลื่อนได้อย่างเต็มกำลังผ่านแนวทางการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ ๆ ที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวและเรียนรู้ให้เท่าทันความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป เช่น กลุ่ม Staycation และ Workation ที่ต้องการทำงานในขณะท่องเที่ยว

จากกระแส work from anywhere ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการส่งเสริมและสนับสนุนภาคธุรกิจให้สามารถดึงดูดและพร้อมรับกับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่อไปผ่านกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการเพิ่มศักยภาพแก่การท่องเที่ยวไทย อันจะเป็นการช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน