ผวา โรคไอกรน กลับมาระบาด ชี้ 3 จังหวัดชายแดนใต้น่าห่วง เด็ก 18 วัน ดับแล้ว 1 ราย อาการเหมือนโควิด พบป่วยมากกว่า 100 คน สิ่งสำคัญที่สุดคือการฉีดวัคซีน

เมื่อวันที่ 21 พ.ย.66 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา วิเคราะห์สถานการณ์เพื่อคาดการณ์โรคที่จะระบาดในช่วงเดือนธ.ค.นี้ เพื่อแจ้งไปยังสำนักงานควบคุมโรคในแต่ละจังหวัด พบว่าจะต้องออกประกาศแจ้งเตือน 2 โรค คือ 1.โรคไอกรน ซึ่งเป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน DPT (ป้องกันคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน) ซึ่งเป็นหนึ่งในวัคซีนพื้นฐานของเด็กเล็ก โดยต้องฉีด 3 เข็มแรก เมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน

“เพราะขณะนี้พบข้อมูลการระบาดโรคไอกรนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้จำนวนมาก โดยเฉพาะ จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส ที่ล่าสุดมีผู้ป่วยยืนยันมากกว่า 100 ราย ในขณะที่ภาคอื่นๆ พบผู้ป่วยเพียง 1-2 รายเท่านั้น และผู้ป่วยทุกรายเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนมาก่อน” นพ.จักรรัฐ กล่าว

ผอ.กองระบาดวิทยา กล่าวว่า สำหรับไอกรน เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันได้ด้วยวัคซีน กรณีเด็กที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เมื่อรับเชื้อจะเริ่มเป็นไข้ มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ บางรายปวดเมื่อยตามตัว ที่สังเกตได้ชัดคือ ต่อมน้ำเหลืองโต ส่วนบริเวณลำคอจะเกิดสายเสียงติดกันทำให้เกิดอาการไอมาก แต่เสียงที่ออกมาจะเป็นเหมือนเสียงกรน ไอแห้ง เสียงหวีด หรือมีเสียงก้องมากขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ใช่เฉพาะช่วงนอนหลับ จากนั้นเชื้อจะลงไปสู่ปอด

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

“ขณะนี้ทางภาคใต้พบติดเชื้อในผู้ใหญ่จำนวนมาก รวมถึงระบาดในเด็กด้วย ซึ่งรายงานข้อมูลยืนยันว่า มีเด็กอายุเพียง 18 วัน เสียชีวิตจากการติดเชื้อไอกรนแล้ว 1 ราย และอีกรายยังอยู่ระหว่างการยืนยันผล กรณีเด็กที่เสียชีวิตนั้น โดยปกติจะต้องได้รับวัคซีนป้องกันในช่วง 2 เดือน แต่เมื่อคลอดมา 18 วัน ติดเชื้อ เลยทำให้อาการรุนแรงและเสียชีวิต

จากการสอบสวนโรคพบว่าแม่ของเด็กรายนั้น ไม่เคยรับวัคซีนไอกรนมาก่อน ทำให้ลูกที่คลอดออกมา ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคเลย เมื่อเด็กกลับไปถึงบ้านที่มีผู้ใหญ่ติดเชื้ออยู่ ก็นำเชื้อไปสู่เด็ก” นพ.จักรรัฐ กล่าว

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

นพ.จักรรัฐ กล่าวถึงการติดเชื้อไอกรนว่า จะเหมือนโรคระบบทางเดินทางหายใจทั่วไป เหมือนโรคโควิด-19 และไข้หวัด อาการเริ่มต้นจะไม่รุนแรง เจ็บคอ หายใจไม่สะดวก มีไข้ขึ้น รุนแรงไปจนถึงเชื้อลงปอดได้

“ส่วนการระบาดนั้น เมื่อไอก็จะแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้สูง อย่างโรคโควิด-19 โอกาสแพร่เชื้อ 1 ต่อ 4 คน ไข้หวัด 1 ต่อ 2 คน แต่ไอกรน 1 ต่อ 7 – 8 คน ทั้งนี้ โรคไอกรนไม่ควรเจอผู้ป่วยในประเทศไทยแล้ว เพราะเราฉีดวัคซีนป้องกัน ฉะนั้นการพบผู้ป่วยเพียง 1 คน ก็ถือว่าเข้าสู่การระบาดได้แล้ว แต่ในตอนนี้เราพบผู้ป่วยมากกว่า 100 คน และยังมีกลุ่มที่ไม่เข้ารับการตรวจหาเชื้ออีกจำนวนมาก

อีกทั้งส่วนใหญ่ก็ไม่ไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อด้วย ซึ่งจะต้องดำเนินการในโรงพยาบาล เพราะการตรวจหาเชื้อจะใช้วิธีเก็บตัวอย่างเชื้อในโพรงจมูกเหมือนกับโรคโควิด-19 ต้องทำโดยสถานพยาบาลเท่านั้น” นพ.จักรรัฐ กล่าวและว่า สาเหตุหลักที่เกิดการระบาดในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคยังไม่เป็นที่ยอมรับ ทำให้มีอัตราการฉีดที่น้อยมาก

ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนต้องเป็นไปตามความสมัครใจ ทำให้ความครอบคลุมของวัคซีนในบางพื้นที่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ขณะที่การป้องกันโรคที่ดี ประชาชนในพื้นที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 80-90

นพ.จักรรัฐ กล่าวถึงการป้องกันโรคไอกรนว่า การสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน เหมือนโรคโควิด-19 หรือไข้หวัดใหญ่ ก็ช่วยได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการฉีดวัคซีน แต่ถ้ามีการติดเชื้อแล้วก็ต้องรักษาตามอาการ เพราะเป็นโรคที่รักษาได้ แต่จะต้องไปพบแพทย์ให้ทันเวลา เพื่อรับการวินิจฉัยโรคอย่างรวดเร็ว ป้องกันเชื้อลงปอด

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะต้องทำอย่างไรในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคไอกรน นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า กรมควบคุมโรคมีหน้าที่เร่งฉีดวัคซีนให้กับเด็กแรกเกิดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน แต่ที่เป็นปัจจัยสำคัญกว่านั้นคือ การยอมรับวัคซีน ทั้งนี้ ทางพื้นที่จำเป็นต้องสร้างการยอมรับวัคซีนให้ได้ เพราะในภาคใต้ส่วนใหญ่ประชาชนยังไม่ยอมรับวัคซีน

นอกจากนี้ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า อีกโรคที่ต้องแจ้งเตือนคือ 2.หัดและหัดเยอรมัน เป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน MMR (ป้องกันหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม) และเป็นหนึ่งในวัคซีนพื้นฐานในเด็กเช่นกัน โดยต้องฉีด 2 เข็ม ตามกำหนด จะสามารถป้องกันได้ตลอดชีวิต ขณะนี้ยังไม่มีการระบาด แต่กรมควบคุมโรคต้องแจ้งเตือน เพราะยังมีรายงานผู้ป่วยเข้ามาเรื่อยๆ

จึงคาดการณ์ว่าอาจจะมีการระบาดในช่วงเดือนธันวาคม 2566 ถึงเดือนมกราคม 2567 เพราะเป็นฤดูการระบาดของโรคหัดและหัดเยอรมัน สำหรับโรคหัดจะเกิดขึ้นมากในเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัว ซึ่งมีอาการรุนแรง ทำให้ปอดอักเสบและเสียชีวิตได้

“โรคหัดเยอรมันสาหัสกว่าโรคหัด เพราะคนที่ติดเชื้อไปอยู่ใกล้ชิดกับหญิงตั้งครรภ์ จะทำให้เกิดการติดเชื้อสู่กัน ก็ทำให้เด็กในครรภ์เป็นโรคพิการแต่กำเนิดทันที” นพ.จักรรัฐ กล่าวและว่า สำหรับอาการสังเกตของหัด จะมีผื่น ปื้น ออกผื่นเป็นไข้ เริ่มขึ้นผื่นในร่มผ้าและกระจายออกนอกร่มผ้า ส่วนหัดเยอรมัน จะมีอาการต่อมน้ำเหลืองโตด้วย

ส่วนอาการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นเหมือนๆ กัน คือ หมดแรง มีไข้ ปวดเนื้อตัว อ่อนเพลีย มีอาการไอด้วย ซึ่งสามารถแพร่เชื้อและทำให้เกิดโรคปอดอักเสบในผู้ป่วยตามมาได้ ส่วนวิธีการวินิจฉัยโรคต้องใช้การตรวจด้วยวิธีเจาะเลือดตรวจหาเชื้อเท่านั้น” นพ.จักรรัฐ กล่าว

ผอ.กองระบาดวิทยา กล่าวถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งต้องเร่งฉีดวัคซีนป้องกันให้มากและเร็วนั้น ก็ส่งผลให้วัคซีนตัวอื่นๆ ถูกชะลอไปด้วย เช่นวัคซีนไวรัสอาร์เอสวี วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนไอกรน วัคซีนหัดและหัดเยอรมัน

ส่วนก่อนหน้าที่จะมีอุบัติการณ์โรคโควิด-19 นั้น อุบัติการณ์เกิดโรคหัดและหัดเยอรมัน ตัวเลขจะต้องไม่มากแล้ว เพราะไทยเข้าร่วมโครงการกวาดล้างหัดและหัดเยอรมัน ขณะนี้ควรจะไม่มีผู้ป่วยในประเทศไทยแล้ว แต่พบว่ายังมีการรายงานอยู่ทุกๆ สัปดาห์

เมื่อถามว่า ในกรณีผู้ใหญ่ที่ยังไม่เคยรับวัคซีนป้องกันไอกรน-หัด-หัดเยอรมัน สามารถรับการฉีดได้หรือไม่ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ผู้ใหญ่จะต้องปรึกษาแพทย์ว่าฉีดได้หรือไม่ เพราะไม่ใช่ผู้ใหญ่ทุกคนจะฉีดได้ นอกจากเมื่อเกิดการระบาดหนักๆ เช่น ไอกรน เราต้องฉีดในผู้ใหญ่เพื่อควบคุมการระบาดของโรค แต่หัดและหัดเยอรมัน เราจะไม่ฉีดในผู้หญิง ยกเว้นกรณีเด็กหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่ต้องฉีด เพื่อป้องกันกรณีตั้งครรภ์แล้วไปรับเชื้อหัดเยอรมันมา เพราะจะทำให้ทารกในครรภ์พิการแต่กำเนิดได้

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน