ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(2 พ.ย.) ชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ตำบลไม้ขาว ตำบลกมลา และอ่าวบางเทา จ.ภูเก็ต จำนวนมาก ได้พากันนำเรือออกตักกุ้งเคย หรือกุ้งกะปิในทะเล โดยเฉพาะที่หาดกมลา ภายหลังจากชาวประมงนำเรือออกตักกุ้งเคย พบว่าบรรดากลุ่มพ่อค้าแม่ค้า และชาวบ้านจำนวนมาก พากันมาเฝ้ารอเพื่อรับซื้อกุ้งเคยจากชาวประมง ในกิโลกรัมละ 50 บาท และนำมาวางขายต่อในราคากิโลกรัมละ 60 บาท ปรากฏว่าจำหน่ายหมดในเวลาอันรวดเร็ว สร้างรายได้งดงามให้แก่ชาวประมงพื้นบ้านและกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้อต่อ สำหรับชาวบ้านที่พลาดโอกาสในการซื้อกุ้งเคย เนื่องจากกุ้งเคยมีจำนวนจำกัด ไม่พอขาย ก็ต้องรอซื้อในปีต่อไป

จากการสอบถาม นายนิรุจน์ สาริยา ชาวบ้านต.กมลา ทราบว่า ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน ในทะเลอ่าวไม้ขาว อ่าวกมลา และอ่าวบางเทา จะมีกุ้งฝอย ขนาดเล็ก มีลักษณะเนื้อนุ่ม รสหวาน มีสีชมพูอ่อนๆ มีคุณค่าทางโภชนการสูง มีแคลเซี่ยม และโปรตีน กุ้งฝอยชนิดนี้ชาวบ้านทั่วไปเรียก กุ้งเคย ที่ชาวบ้านนำไปทำกะปิ กุ้งเคยมีจำนวนมากจับกลุ่มก้อนหนาแน่นในทะเล หลายล้านตัว กุ้งเคยจะเข้ามาในบริเวณน้ำตื้นเพียงแค่ 2 สับปดาห์ จากนั้นบางส่วนจะเป็นอาหารของปูปลา และบางส่วนกลับไปพักฟื้นในท้องทะเลลึกเพื่อฟักไข่ในปีต่อไป

กุ้งเคยนอกจากใช้ทำกะปิแล้ว ยังนำไปหมักเป็นกุ้งเค็ม ตากเป็นกุ้งแห้ง ตลอดจนใช้กุ้งเคยสดไปปรุงเป็นอาหารหลายอย่าง ปัจจุบันสภาพน้ำทะเลในจังหวัดภูเก็ต หลายพื้นที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีสถานที่พัก โรงแรมต่างๆ มากมาย ทำให้สภาพแวดล้อมของน้ำทะเลเปลี่ยนไป ไม่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของกุ้งเคย จึงไม่พบเห็นกุ้งเคยในหลายพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันพื้นที่ที่ยังมีกุ้งเคยเข้ามาอาศัย คือ อ่าวไม้ขาว อ่าวกมลา และอ่าวบางเทา

สำหรับการจับกุ้งเคย ชาวประมงพื้นบ้านริมหาดใช้วิธีการจับด้วยเครื่องมือภูมิปัญญาท้องถิ่น คือใช้เรือหางยาวติดอวนขนาดเล็กลากหรือตักขึ้นมา หรือใช้อวนชายฝั่ง หรือหวะลากจับขึ้นมา แต่ไม่สามารถใช้อวนขนาดใหญ่หรืออวนรุนได้ เนื่องจากผิดกฏหมาย และกุ้งมีจำนวนไม่มาก ที่จะใช้เครื่องขนาดใหญ่เพราะไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม จังหวัดที่มีกุ้งเคยมากที่สุดและเป็นแหล่งทำกะปิที่มีชื่อเสียง สามารถนำไปออกสู่ท้องตลาดได้ คือจังหวัดระนอง ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง กระบี่ และสตูล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน