กรมการแพทย์ ลบความเชื่อผิดๆ แนะผู้ป่วยมะเร็งควรได้รับอาหารที่มีโปรตีนสูงมากกว่าคนทั่วไป จะทำให้มีส่วนช่วยในการซ่อมแซมร่างกายระหว่างการรักษาโรคมะเร็ง
28 พ.ค. 67 – นพ.สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นโรคเรื้อรัง ที่เป็นปัญหาสำคัญทางการแพทย์และสาธารณสุขมาเป็นเวลานาน
ในขณะที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาโรคมะเร็ง ไม่ว่าจะด้วยวิธีการให้เคมีบำบัด หรือการฉายรังสี ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีความเข้าใจว่า ต้องห้ามรับประทานเนื้อสัตว์ประเภทต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่หรือแม้แต่อาหารทะเล หรือต้องรับประทานน้อยๆ ทำให้ได้สารอาหารไม่ครบถ้วน จะส่งผลต่อเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะทำให้คนไข้ที่เข้ารับการรักษาไม่ผ่านเกณฑ์ เนื่องจากค่าเลือดไม่ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐาน ส่งผลทำให้กระบวนการรักษาไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่แพทย์ได้วางแผนเอาไว้
นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยมะเร็งควรได้รับอาหารที่มีโปรตีนสูง และควรเป็นชนิดโปรตีนที่มีคุณภาพดีจากธรรมชาติ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ หรือแม้แต่อาหารทะเล ซึ่งความต้องการในสารอาหารโปรตีนนั้นผู้ป่วยจะต้องได้รับ 1.2 – 1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมในหนึ่งวัน
ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยน้ำหนัก 50 กิโลกรัม สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ พลังงาน ที่ควรได้รับต่อวัน โดยเอาน้ำหนักตัว x 1.2 = ปริมาณโปรตีนที่ควรได้รับ นอกจากเนื้อสัตว์จะเป็นแหล่งของโปรตีน ที่ดียังมีโปรตีนจากแหล่งอื่นที่หลากหลาย เช่นนม ไข่ขาว ธัญพืชต่าง ๆ อาหารทางการแพทย์ ซึ่งจะช่วยในการซ่อมแซมร่างกายระหว่างการรักษาโรคมะเร็ง
“ผู้ป่วยมะเร็งแต่ละรายมีความต้องการที่แตกต่างกัน ดังนั้นควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือนักโภชนาการ สารอาหารประเภทโปรตีนต่างๆ ผู้ป่วยสามารถเลือกรับประทานได้หลากหลายชนิดเพื่อได้รับโปรตีนที่ครบถ้วนในแต่ละวัน ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ควบคู่กับการดื่มน้ำ เพิ่มการออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอและการขับถ่ายที่สม่ำเสมอ เพื่อพร้อมรับการรักษาโรคมะเร็งต่อไป” นพ.อดิศัย กล่าว