ปลาหมอคางดำ ออกทะเลอ่าวไทยแล้ว เกษตรกรโอดกินกุ้งหมดบ่อ เลยจับทิ้งทะเล เผยตอนนั้นไม่มีที่ไหนรับซื้อ ไม่มีใครให้ข้อมูล ต้องหยุดทำธุรกิจ

วันที่ 17 ก.ค. 2567 ที่ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดสมุทรปราการ หรือ ศรชล.จังหวัดสมุทรปราการ ศรชล.ภาค 1 น.อ.ทิฆัมพร สมนึก รอง.ผอ.ศรชล.จว.สป. เป็นประธานในการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เช่น ประมงจังหวัด, อบต.คลองด่าน, เทศบาลตำบลคลองด่าน และภาคประชาชน เช่น สมาคมประมง จ.สมุทรปราการ, สมาคมประมงคลองด่าน รวมถึงผู้แทน สส.สมุทรปราการ เขต 8 พรรคก้าวไกล

โดยก่อนหน้านี้ นายสมพร เกื้อสกุล ประมงจังหวัดสมุทรปราการ เดินทางลงพื้นที่ไปดูจุดที่ชาวบ้านพบมีการระบาดของปลาหมอคางดำที่คลองตาเจียน หมู่ที่ 6 ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ เพื่อสำรวจพื้นที่จริงและนำกลับมาเป็นข้อมูลในการประชุมหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ตามสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ ซึ่งอาจไม่เหมือนกัน โดยใช้เวลาประชุมประมาณ 2.30 ชั่วโมง จึงได้ข้อสรุปเบื้องต้น

 

ด้านเกษตรกรวังกุ้งรายหนึ่ง หมู่ที่ 9 บ้านขุนสมุทรจีน ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ ได้นำคลิปวีดีโอปลาหมอคางดำที่ถ่ายไว้จากบ่อเลี้ยงกุ้งมาให้ผู้สื่อข่าวดู พร้อมเปิดเผยว่า ตนได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำเมื่อปลายปี 2566 แต่มาหนักสุดเมื่อ 1 เดือนที่ผ่านมา ปลาหมอคางดำ กิน-ทำลายกุ้ง-หอยที่เลี้ยงไว้ หมดทั้งบ่อ

เกษตรกร กล่าวอีกว่า ตนจับปลาหมอคางดำได้รวมประมาณ 2 ตัน แต่เวลานั้นไม่มีที่ไหนรับซื้อและไม่มีใครให้ข้อมูลใดๆ ตนจึงจำเป็นต้องนำปลาหมดคางดำทั้งหมดทิ้งลงทะเลไป และต้องหยุดทำธุรกิจบ่อกุ้งก่อนอย่างไม่มีกำหนด

เกษตรกรถ่ายคลิปวิดีโอ ปลาหมอคางดำ บุกกินกุ้งหมดบ่อ

เกษตรกร กล่าวต่อว่า ส่วนการมาประชุมวันนี้ เริ่มมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เพราะถ้าภาครัฐมีการรับซื้อที่ 15 บาทต่อกิโลกรัม ตนคิดว่าน่าจะทำให้ปลาหมอคางดำมีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว ตนก็จะกลับมาประกอบอาชีพได้อีกครั้ง

นายพิชัย แซ่ซิ้ม นายกสมาคมการประมง จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า ตนได้รับรายงานว่ามีชาวประมงพื้นบ้านจับปลาหมอคางดำได้นอกเขต 3 ไมล์ทะเล หลังผ่าท้องพบเคยจำนวนมาก กังวลว่าหากปล่อยไว้อาจทำให้เกิดปัญหาหนักกับกลุ่มประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์อยากฝากถึงหน่วยงานภาครัฐช่วยเร่งดำเนินการหาวิธีแก้ไขอย่างรวดเร็ว

นายพิชัย กล่วาต่อว่า ขอให้ผ่อนผันกฎหมายการทำประมงขยายขนาดของเรือ จากไม่เกิน 3 ตันกรอส เป็นไม่เกิน 10 ตันกรอส พร้อมให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัด เป็นผู้กำหนดทั้งรูปแบบ เครื่องมือ พื้นที่และขนาดเรือ เพื่อความคล่องตัวและแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด

จากนั้นได้พาผู้สื่อข่าวไปดูบริเวณปลายแม่น้ำเจ้าพระยา ปากอ่าวไทย จุดที่ชาวประมงทอดแหครึ่งชั่วโมง สามารถจับปลาหมอคางดำได้ประมาณครึ่งถังพลาสติกเป็นประจำทุกวัน นำมาเลลงพื้นให้ผู้สื่อข่าวดู พร้อมตั้งข้อสังเกตความห่วงใย ว่าปลาหมอคางดำ อาจจะไปทำลายสัตว์น้ำต่าง ๆ ในทะเลอ่าวไทยจนหมด และอาจขยายวงกว้างไปสู่ทะเลของประเทศเพื่อนบ้าน สร้างปัญหาอย่างหนัก อาจทำให้สัตว์น้ำในทะเลลึกสูญพันธุ์ได้

ชาวประมงทอดแหจับ ปลาหมอคางดำ ปากทะเลอ่าวไทย

ด้านนายสมพร เกื้อสกุล ประมงจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ยอมรับปัญหาเรื่องปลาหมอคางดำ ของ จ.สมุทรปราการ ระบาดอยู่ในขั้นวิกฤต มีประชาชนแจ้งเข้ามาว่านอกจากพบที่ อ.พระสมุทรเจดีย์ และ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ แล้ว ยังพบอยู่ในพื้นที่ของ อ.เมืองสมุทรปราการ และที่ ต.เปร็ง อ.บางบ่อ เพิ่มอีก ดังนั้น จึงต้องการให้ความรู้ข้อมูลที่ถูกต้องกับทุกภาคส่วน จะได้เข้ามาร่วมกันจัดการกับปลาหมอคางดำให้หมดไป

นายสมพร กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องราคาที่รับซื้อตอนนี้มีความหลากหลายในแต่ละพื้นที่ ล่าสุด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายให้ภาครัฐช่วยรับซื้อในราคาที่เหมาะสม คือ 15 บาทต่อกิโลกรัม ขณะนี้รอคำสั่งอย่างเป็นทางการ และพร้อมดำเนินการในทันที

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน