เลย ชาวบ้าน ภูเรือ เดือดร้อนหนัก ช้างป่าภูหลวง บุกกัดกินพืชไร่ ทุกคืน สร้างความเสียหายหนัก เกษตรกร หวาดผวา เกรงอันตราย วอนช่วยกันผลักดันออกพ้นพื้นที่เกษตร

14 ส.ค. 67 – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมา ชาวบ้านบ้านสองคอน ต.ปลาบ่า อ.ภูเรือ จ.เลย ต่างได้รับผลกระทบกับช้างป่า ได้ออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ได้ออกมาหากินและได้สร้างความเสียหาย กัดกินพืชไร่ แก้วมังกร นาข้าว ของชาวบ้านเกือบทุกคืน

ชาวบ้านขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบช่วยกันผลักดันออกจากพื้นที่ ต่างหวาดผวาและเกรงว่าจะได้รับอันตราย กับช้างป่าที่ออกมาหากิน รวมทั้งพืชผลทางเกษตรเสียหายยับ

นางสาวภูมรินทร์ คงเพียรธรรม นายอำเภอภูเรือ เปิดเผยว่า เรื่องปัญหาของช้างป่าที่ออกมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ในพื้นที่อำเภอเรือ ซึ่งทางราชการได้ออกมาตีกรอบ ถ้าหากมีการสูญเสียชีวิต จะเป็นเรื่องของกรมอุทยานฯ แต่ถ้าหากเป็นเรื่องของทรัพย์สิน พืชผลทางการเกษตร ก็จะเป็นเรื่องขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ้าหากเกินศักยภาพก็จะส่งมาทางอำเภอในเรื่องของงบ ปภ. ในเรื่องของการเยียวยา

โดยพื้นที่ในเขต อำเภอภูเรือ มีช้างป่าหลายโขลง ลงมาหากิน ในหลายพื้นที่เขตขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ที่อยู่ระหว่างการสำรวจ ซึ่งแต่ละ อปท.จะมีเครือข่ายการเฝ้าระวังช้างป่า ทั้งเฝ้าระวังชีวิตและทรัพย์สิน แต่ อปท.จะสร้างเครือข่าย ต้องรับงบประมาณสนับสนุน จากกรมอุทยานฯ และเครือข่ายเหล่านี้จะทำงานร่วมกันกับชุดผลักดันของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากับทางอุทยานฯ

แต่หากว่า จุดที่เฝ้าระวังไม่ไหว และป้องกันไม่อยู่ ช้างเข้าไปทำลายทรัพย์สิน ทำลายพืชผลทางการเกษตร ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ก็ไปแจ้งความเสียหายได้กับทาง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. ซึ่งทาง อบต. จะเข้าไปสำรวจและให้ความช่วยเหลือตามระเบียบของ กระทรวงมหาดไทยว่าช่วยเหลือประชาชน

ขณะทางอำเภอภูเรือ ได้รับผลกระทบกับช้างป่าภูหลวงที่ออกมาหากิน กัดพืชไร่ของชาวบ้านมีหลายทางหลายพื้นที่ โดยเฉพาะของตำบลสานตม มีอยู่ 3 ตัว และที่ตำบลปลาบ่าจะมี 2 ตัว ซึ่งช้าง 2 ตัวนี้จะเดินทางข้ามไปข้ามมาระหว่างตำบลปลาบ่า และตำบลร่องจิก ที่ 2 ตำบล

ส่วนชาวบ้านปลูกแก้วมังกรจำนวนมาก โซนที่หนักสุดบริเวณบ้านหินสอ บ้านโป่งกวาง ต.ปลาบ่า ซึ่งจะมาเป็นโขลงใหญ่และมาอยู่ประจำ แต่โขลงนี้ที่ช้างเข้ามาอยู่ไม่ใกล้หมู่บ้านเท่าไร ซึ่งจุดจะมีเจ้าหน้าที่เฝ้าดู พร้อมกับเครือข่าวของชาวบ้าน และการเคลื่อนย้ายของโขลงนี้ก็จะมีการแจ้งเตือนชาวบ้านก่อน ซึ่งการผลักดันจะต้องใช้ทีมงานของป่าไม้ ที่มีความชำนาญในการผลักดัน

แต่ในเรื่องของการเยียวยาหลักๆ ให้กับชาวบ้าน จะเป็นขององค์กรส่วนท้องถิ่น ใช้ตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย แต่ถ้าเกินศักยภาพก็สามารถของบ ปภ. ขณะนี้ได้มีการช่วยเหลือไปแล้วบางหมู่บ้าน และกำลังอยู่ในระหว่างการสำรวจความเสียหายต่อเนื่อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน