ก.แรงงาน แจงปมเก็บค่าธรรมเนียม แรงงานข้ามชาติ ยันทำตาม กม. ย้ำขึ้นทะเบียนทุกขั้นตอนดำเนินการรอบคอบ-เข้มงวด แจ้งชัด ส่งหนังสือ ชี้แจง สภาผู้แทนราษฎรแล้ว

5 ม.ค. 68 – นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงการเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ว่า

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะต้องการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติแย่งอาชีพสงวนของคนไทย นำแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบ เพื่อตรวจสอบ ติดตาม และควบคุมการจ่ายภาษี และเงินสมทบประกันสังคมตามกฎหมายไทย รวมถึงดูแลคุณภาพชีวิตตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล

โดยทุกขั้นตอนของการขึ้นทะเบียน จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและเข้มงวด ทั้งการตรวจสุขภาพเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรคเข้ามายังประเทศไทย การจัดเก็บอัตลักษณ์และพิสูจน์สัญชาติ ที่ต้องผ่านการรับรองจากทางการของประเทศต้นทาง ไม่ใช่รับรองฝ่ายเดียว หากพบว่า เคยกระทำผิดก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมทั้งจะต้องทำประกันภัยกับบริษัทที่มีความมั่นคง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง

โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สำหรับข้อกังวลเรื่องการเก็บภาษี หรือค่าใช้จ่ายการให้บริการต่างๆ จากแรงงานข้ามชาติของประเทศต้นทางนั้น ถือเป็นเรื่องภายในประเทศ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่ามีการเรียกเก็บแต่อย่างใด แต่โดยหลักการแล้ว ไม่ว่าคนของประเทศไหนไปทำงานต่างประเทศก็ต้องส่งรายได้กลับประเทศ เหมือนกับกรณีของคนไทยที่ไปทำงานประเทศอื่น

ส่วนค่าใช้จ่ายในการต่อใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติในลักษณะ MOU นั้น กระทรวงแรงงานได้ส่งหนังสือชี้แจงไปยังสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ตามที่ ส.ส.ฝ่ายค้านได้ตั้งข้อสังเกต โดยยืนยันว่า ค่าใช้จ่ายต่อคนรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 7,600 บาท ไม่ใช่ 20,000 บาท ตามที่มีการกล่าวอ้าง

ซึ่งแบ่งเป็น ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานและเงินประกันของกระทรวงแรงงาน 2,900 บาท (ขอคืนเงินประกันได้ 1,000 บาท เมื่อครบสัญญา 2 ปี) ค่าธรรมเนียม VISA ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง 500 บาท และค่าธรรมเนียมการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพ 2 ปี ของกระทรวงสาธารณสุข ไม่เกิน 4,200 บาท

“เราเปิดให้นายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อแรงงานข้ามชาติ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการ ส่วนการจัดเก็บอัตลักษณ์และพิสูจน์สัญชาตินั้น ตัวแรงงานเองไม่จำเป็นต้องเดินทางกลับออกนอกประเทศ ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและความแออัดที่ด่านชายแดน

โดยแม้จะมีศูนย์พิสูจน์สัญชาติ โดยเฉพาะแรงงานเมียนมา เพียง 3 แห่ง คือ กทม. เชียงใหม่ ระนอง เพราะเจ้าหน้าที่จากทางการเมียนมามีไม่เพียงพอก็ตาม แต่กระทรวงแรงงานพร้อมขยายเวลา เพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนได้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง” นายภูมิพัฒน์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน