แนะ สธ. รับมือด้านสาธารณสุข ให้ที่พักพิงชั่วคราว มีสถานพยาบาลประจำ และมีอาสาสมัครสาธารณสุขผู้หนีภัย ชี้ความล่าช้านำมาสู่การสูญเสีย
วันที่ 13 ก.พ.2568 นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ แนะกระทรวงสาธารณสุขในการรับมือปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่พักพิงชั่วคราว เนื่องจากรัฐบาลอเมริกาถอนการสนับสนุนช่วยเหลือ ด้วยการเข้าไปดูแลสถานพยาบาลอย่างต่อเนื่อง และตั้งอาสาสมัครสาธารณสุขผู้หนีภัย
จากกรณีรัฐบาลสหรัฐอเมริกาหยุดให้การสนับสนุนงบประมาณโครงการด้านการดูแลสุขภาพและการคุ้มครองในพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ ชายแดนไทย-เมียนมา ผ่านองค์กร International Rescue Committee (IRC) เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อทบทวนนโยบายต่างประเทศ ส่งผลให้สถานพยาบาลในพื้นที่พักพิงชั่วคราวต้องปิด เนื่องจากไม่มีแพทย์และเจ้าหน้าที่ดูแล
โดยเมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า มีมาตรการเร่งด่วน คือ จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ ประสานงานกับโรงพยาบาลชายแดนเพื่อรองรับผู้ป่วย มีการรายงานสถานการณ์ทุกวัน และออกแนวทางปฏิบัติให้โรงพยาบาลชายแดน พร้อม Rapid Response Team (RRT) ทำงานร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
จัดทีมแพทย์เคลื่อนที่จากโรงพยาบาลแม่ข่ายเข้าไปตรวจรักษาในพื้นที่พักพิงทุกสัปดาห์ โดยโรงพยาบาลชายแดนสนับสนุนบุคลากรแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพิ่มเติม ใช้ระบบ Telemedicine เพื่อลดการเดินทาง และประสานภาคประชาสังคมร่วมสนับสนุนการดูแลสุขภาพ
จัดระบบส่งต่อกรณีฉุกเฉินและโรคเรื้อรังไปยังโรงพยาบาลแม่ข่าย โดยไม่ต้องใช้เอกสารซับซ้อน จัดรถพยาบาลเฉพาะกิจ และเพิ่มงบประมาณพิเศษให้โรงพยาบาลชายแดนรองรับค่าใช้จ่ายดูแลผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น สำรองยาและเวชภัณฑ์เพิ่มเติม จัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม และ ควบคุมป้องกันโรคติดต่อ/โรคระบาด
นายสุรพงษ์กล่าวว่า การรักษาพยาบาลเป็นสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนต้องได้รับโดยไม่มีการยกเว้น เพราะนอกจากให้ผู้หนีภัยมีสุขภาพที่ดีแล้ว ยังเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดต่ออีกด้วย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่กระทรวงสาธารณสุขต้องเข้าไปดูแลผู้หนีภัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราว
เนื่องจากการเจ็บป่วยไม่มีวันหยุด มีทุกวันไม่เลือกวัน การส่งแพทย์เคลื่อนที่เข้าไปสัปดาห์ละครั้งจึงไม่เพียงพอและไม่ทันต่อการเจ็บป่วย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีสถานพยาบาลประจำและมีแพทย์ประจำในที่พักพิงชั่วคราว รวมทั้งสนับสนุนให้โรงพยาบาลในพื้นที่รับผิดชอบเรื่องนี้ด้วยการสนับสนุนแพทย์ งบประมาณ และวัสดุอุปกรณ์จึงเป็นเรื่องจำเป็นและเร่งด่วนอย่างยิ่ง ความล่าช้านำมาสู่การสูญเสีย ซึ่งชีวิตของมนุษย์มีค่าและสำคัญอย่างยิ่ง
นายสุรพงษ์กล่าวว่า นอกจากนี้งานด้านสาธารณูปโภคและการอนามัยในที่พักพิงชั่วคราวก็มีความจำเป็นและสำคัญเช่นกัน ที่กระทรวงสาธารณสุขต้องเข้าไปบริหารและจัดการ ไม่ว่าจะเป็นระบบน้ำสะอาด จัดเก็บขยะ ป้องกันโรค เพราะด้านสาธารณสุขไม่ได้มีเพียงการตั้งรับในสถานพยาบาล ตลอดถึงการตั้งให้มีอาสาสมัครด้านสาธารณสุขผู้หนีภัย เช่นเดียวกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)ที่มีอยู่ในหมู่บ้านคนไทย ก็จำเป็นเร่งด่วนต้องทำ
ที่สำคัญคือรัฐบาลต้องมีนโยบายและมาตรการแก้ไขปัญหาผู้หนีภัยในที่พักพิงชั่วคราวอย่างจริงจัง ไม่ใช่การนำคนเหล่านี้มาควบคุมไว้ไม่ให้ไปไหน และให้องค์กรระหว่างประเทศมาสงเคราะห์ไปเรื่อยๆดังเดิม เมื่อองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาช่วยเหลือน้อยลง และคนเหล่านี้กลับประเทศต้นทางไม่ได้ ไปประเทศที่สามก็มีเพียงเล็กน้อย
แนวทางการให้คนเหล่านี้สามารถทำงานเป็นแรงงานกลุ่มพิเศษในเงื่อนไขที่รัฐกำหนด จะช่วยให้คนเหล่านี้มีรายได้เลี้ยงชีพอย่างถูกต้อง และรองรับแรงงานที่ไทยยังขาดแคลนจนต้องนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน
นายสุรพงษ์กล่าวว่า ผู้หนีภัยในที่พักพิงชั่วคราวปัจจุบันมีจำนวนแปดแสนกว่าคน ส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้สูงอายุ ดังนั้นจะมีผู้เป็นแรงงานราวสามหมื่นคน ซึ่งเป็นจำนวนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความต้องการแรงงานข้ามชาติของไทยที่มีมากกว่าสามล้านคน คือเพียง 1% ของแรงงานข้ามชาติเท่านั้น