สธ.เตือน “ไข้หวัดใหญ่” ระบาดรุนแรง ไทยพบป่วยเกิน 1 แสนราย เสียชีวิต 9 ราย แนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้น พยากรณ์โรค ปี’68 เจอคนไข้สูงเกือบล้านคน แนะฉีดวัคซีนป้องกัน

19 ก.พ. 68 – ที่กระทรวงสาธารณสุข วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวในการแถลงข่าว “รู้ทันโรค รู้ทันภัย” ป้องกันได้ ว่า

สำหรับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ในปี 2568 มีผู้ป่วยสะสมระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 14 กุมภาพันธ์ อยู่ที่ 9,158 ราย อัตราป่วย 14.10 ต่อประชากรแสนคน

โดยกลุ่มอายุที่พบการป่วยสูงสุดคือ เด็ก 0-4 ขวบ, อายุ 30-39 ปี และ อายุ 20-29 ปี ตามลำดับ มีผู้เสียชีวิตสะสม 4 ราย อัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 0.006 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งผู้เสียชีวิตเป็นกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2567 พบว่า อัตราป่วยปี 2568 มีแนวโน้มลดลง ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นโรคไข้หวัดใหญ่มากกว่า อย่างไรก็ตามมีการพยากรณ์โรคโควิด-19 ในปี 2568 คาดว่ามีผู้ป่วยลดลงเมื่อเทียบกับปี 2567 จะพบราว 551,182 ราย ผู้เสียชีวิต 220 ราย

ด้าน พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 17 กุมภาพันธ์ พบผู้ป่วยสะสม 107,570 ราย เสียชีวิต 9 ราย คิดอัตราป่วยตายอยู่ที่ร้อยละ 0.008 แนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้นกว่าปี 2567 และสูงกว่าค่ามัธยฐานย้อนหลัง 5 ปี

โดยกลุ่มอายุที่ป่วยสูงสุด คือ อายุ 5-9 ปี, อายุ 0-4 ปี และอายุ 10-14 ปี ตามลำดับ ส่วนสายพันธุ์ที่ตรวจพบมากที่สุด คือ สายพันธุ์ A/H1N1(2009) ร้อยละ 41.38 รองมาคือ สายพันธุ์ B ร้อยละ 37.9 และ A/H3N2 ร้อยละ 26.72 ทั้งนี้ การระบาดมักพบในโรงเรียนถึง 11 เหตุการณ์ เรือนจำ 3 เหตุการณ์ ค่ายทหาร 2 เหตุการณ์

“โรคไข้หวัดใหญ่เกินการคาดการณ์ของเรามาตั้งแต่ปีที่แล้ว ค่อนข้างระบาดเยอะ ข้อมูลการป่วยตายน้อยกว่าโรคโควิด-19 แต่อัตราระบาดสูงกว่า ซึ่งพบมากในกลุ่มผู้ป่วยเด็กวัยเรียน แต่อัตราตายพบสูงในกลุ่มผู้สูงอายุ เหมือนกับโรคโควิด-19 อย่างผู้เสียชีวิต 9 รายนั้น พบตั้งแต่เด็กอายุ 11 ปี สูงสุด 86 ปี โดยจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว 8 ราย เช่น โรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจ ความดันโลหิตสูง วัณโรคปอด และภาวะบกพร่องทางสติปัญญา และทั้ง 9 รายไม่ได้รับวัคซีนป้องกัน” พญ.จุไร กล่าว

พญ.จุไร กล่าวต่อว่า การพยากรณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในปี 2568 คาดว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากปี 2567 โดยจะพบสูงในฤดูฝน ระหว่างเดือนสิงหาคม – ตุลาคม และช่วงฤดูหนาว ระหว่างเดือน มกราคม – มีนาคม คาดว่าจะมีผู้ป่วยสูงถึง 903,446 ราย ซึ่งจะต้องมีมาตรการที่จะกดอัตราป่วยให้ลดลง และมีคำแนะนำประชาชนให้รับวัคซีนป้องกันปีละ 1 ครั้ง ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ หากพบว่ามีอาการป่วยให้หยุดพักจนกว่าจะหาย และสวมหน้ากากอนามัยเสมอ

ทั้งนี้ สำหรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดแบ่งวัคซีนป้องกันไข้หวัดเป็นสายพันธุ์ขั้วโลกเหนือ ครอบคลุม 4 สายพันธุ์เป็น A และ B อย่างละ 2 สายพันธุ์ และขั้วโลกใต้ ครอบคลุม 3 สายพันธุ์ เป็น A จำนวน 2 สายพันธุ์ และ B จำนวน 1 สายพันธุ์

โดยปัจจุบันที่ไทยฉีดอยู่ในช่วงเดือนตุลาคม – มีนาคม จะเป็นสายพันธุ์ขั้วโลกเหนือ ส่วนสายพันธุ์ขั้วโลกใต้จะเป็นช่วง 6 เดือนถัดมาคือ ตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน โดยยืนยันว่า วัคซีนที่ฉีดในปัจจุบันครอบคลุมกับเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในช่วงนี้ คือ สายพันธุ์ A/H1N1(2009) ซึ่งสอดคล้องกับการระบาดในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น

นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า ประชาชนกลุ่มเสี่ยงสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ในช่วงของการรณรงค์ ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 31 สิงหาคม 2568 ได้แก่ 1. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ 2. เด็กอายุ 6 เดือน – 2 ปี 3. ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง, หอบหืด, หัวใจและหลอดเลือด, ไตวาย, เบาหวาน, ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด

4. ผู้อายุมากกว่า 65 ปี 5. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ 6. ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ และ 7. ผู้มีภาวะโรคอ้วน ที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือมีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 35 (BMI)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ในต่างประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 2 กันยายน 2567 -26 มกราคม 2568 มีผู้ป่วยสะสม 9.52 ล้านคนเฉลี่ยวันละ 66,132 คน พบสัดส่วนของสายพันธุ์ A/H1N1 ร้อยละ 77.1 และ สายพันธ์ุA /H3N2 ร้อยละ 22.9

ขณะที่ไต้หวัน ข้อมูลระหว่างวันที่ 19-25 มกราคม 2568 มีผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เข้ารับการรักษาสูงถึง 162352 คน ซึ่งตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2567 จนถึงกุมภาพันธ์ 2568 พบผู้ป่วยอาการหนัก 67 คนและเสียชีวิต 132 คนส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ A โดยพบสายพันธุ์ย่อยที่สำคัญ 2 ชนิด คือสายพันธุ์ A/H1N1 และ สายพันธ์ุA /H3N2

ส่วนฮ่องกง ศูนย์ป้องกันสุขภาพแรงงานว่าใน 4 สัปดาห์แรก 2568 มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่อาการหนักที่รักษาตัวใน ICU จำนวน 199 คน โดยมีผู้เสียชีวิตถึง 122 คน และมากกว่าร้อยละ 70 ของผู้ป่วยหนักหรือผู้เสียชีวิต ไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป

และ สหรัฐอเมริกา ประเมินว่ามีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ถึง 24 ล้านคน ในช่วงฤดูกาลนี้ ก็คือตั้งแต่ประมาณตุลาคม 2567 จนถึงปัจจุบัน โดยมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลกว่า 310,000 คน และเสียชีวิต 13,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ถึงร้อยละ 97

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน