วันที่ 25 พ.ค. เอพีรายงานความคืบหน้าสถานการณ์ภูเขาไฟคิลาเวอาระเบิดในรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ว่า น้ำพุลาวาพ่นออกมาจากรอยแยกของแผ่นดินตลอดแนว 3.2 ก.ม. และเป็นลาวาสายที่ 3 ที่ไหลบ่าลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก
การที่ลาวาไหลลงทะเลดังกล่าวก่อให้เกิดหมอกลาวา หรือ ลาวาเฮซ ปกคลุมไปทั่วบริเวณชายฝั่งภาคตะวันออกของเกาะบิ๊กไอส์แลนด์ จนเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเตรียมความพร้อมอพยพประชาชนอีก 1,000 คน

ลาวาไหลบ่าไปยังชายหาดพูนา (ขวา) เมืองปาโฮอา (Satellite Image ©2018 DigitalGlobe, a Maxar company via AP)
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่อพยพประชาชนออกจากชุมชนที่อยู่อาศัยเลลานี เอสเทตส์ และชุมชนใกล้เคียงออกไปแล้ว 2,000 คน หากลาวาไหลทะลักข้ามถนนหลวงสายหลักและปิดกั้นการเข้าออกของชุมชนอีก ก็ต้องอพยพคนเพิ่มเติม

นาทีลาวาไหลลงมหาสมุทร ( U.S. Geological Survey via AP)
ด้านเจ้าหน้าที่หน่วยนาวิกโยธินส่งเฮลิคอปเตอร์ CH-53E ซูเปอร์ สตอลเลียน 2 ลำ จากฐานใกล้ฮอนโนลูลูเข้าไปช่วยในภารกิจอพยพ ลำหนึ่งขนส่งผู้โดยสารได้ราว 50 คน
ขณะเดียวกัน ผู้คนยังพากันตกตะลึงที่เห็นเปลวเพลิงสีน้ำเงินไหม้ขึ้นมาจากลาวา โดยเฉพาะในช่วงดึกที่เห็นชัดขึ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านภูเขาไฟ เจนีน คริปป์เนอร์ กล่าวว่า ไม่ใช่ปรากฏการณ์ปกตินัก เท่าที่เคยเห็นมาก่อนมีเฉพาะที่อินโดนีเซียเท่านั้น
กรณีของอินโดนีเซีย เกิดขณะภูเขาไฟไอเจนปะทุ และเห็นเปลวเพลิงสีน้ำเงินเกิดขึ้นจากแก๊สซัลฟริกทำปฏิกิริยากับลมร้อน

เปลวเพลิงสีน้ำเงิน (U.S. Geological Survey via AP)
ส่วนกรณีของคิลาเวอา ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าน่าจะเกิดจากการที่ลาวาไหลไปท่วมพื้นที่อยู่อาศัย ถนนหนทาง และพื้นที่ปลูกพืช ภายใต้สภาพนี้ เมื่อพืชถูกเผาไหม้ก็จะผลิตมีเทนที่ค่อยๆ ลอยสู่อากาศ ส่วนถนนกลายเป็นเส้นทางเคลื่อนตัวให้กับมีเทน ยิ่งทำให้สารเพิ่มความเข้มข้นขึ้น เมื่อมีเทนเคลื่อนไปตามรอยแยกจึงกระจายความร้อนและออกซิเจนออกมา และเป็นภาพคุ้นตาว่าเหมือนเปลวไฟริบหรี่เวลาตั้งแคมป์ไฟ