คอลัมน์ ข่าวสดอาเซียน

แม้อาเซียนจะมีกฎเหล็กไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก แต่ความขัดแย้งทางศาสนาในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า กลับจุดชนวนให้มาเลเซียและพม่ามีอันต้องมึนตึง ทั้งยังส่อแววว่าจะ ยืดเยื้อถึงขั้นสั่นคลอนความสัมพันธ์ภายในภูมิภาค

จากจุดเริ่มต้นความวุ่นวายครั้งใหม่ที่เกิดขึ้นหลังกลุ่มคนร้ายไม่ทราบฝ่ายโจมตีเจ้าหน้าที่ด่านตรวจชายแดน 3 แห่งในเมืองหม่องดอว์ รัฐยะไข่ ซึ่งเป็นชุมชนชาวมุสลิมโรฮิงยาติดชายแดนบังกลาเทศ เมื่อ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ตำรวจ 9 นายเสียชีวิต ต่อมาทหารนำกำลังเข้าปะทะกลุ่มคนร้าย เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอีกกว่า 12 ราย พร้อมระบุเชื่อว่าเป็นฝีมือของชาวมุสลิมโรฮิงยาสายสุดโต่งที่เชื่อมโยงกับขบวนการตาลิบัน ก่อนบุกถล่มหมู่บ้านหลายแห่งในเมืองหม่องดอว์

กองทัพพม่าออกมาแถลงยอมรับเองว่าสังหารผู้ต้องสงสัยชาว โรฮิงยาจำนวนมาก แต่ย้ำว่าเป็นการตอบโต้ความพยายามโจมตี เจ้าหน้าที่ในขณะตรวจค้น

อย่างไรก็ตาม สื่อท้องถิ่นระบุว่าเจ้าหน้าที่ทหารไม่ใช่แค่ใช้กำลังบุกตรวจเท่านั้น แต่ยังก่อเหตุข่มขืนหญิงชาวมุสลิมโรฮิงยาอย่างน้อย 5 คน ทั้งยังสังหารหมู่ผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก เผาบ้านเรือนกว่า 400 หลังจนวอดวาย และทำให้ชาวโรฮิงยากว่า 20,000 คนต้องหนีตายไปยังบังกลาเทศ

ท่ามกลางการจับตามองของนานาประเทศ นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก ผู้นำมาเลเซีย กล่าวขณะร่วมประท้วงกับผู้ชุมนุมราว 5,000 คนในกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยเหน็บแนม นาง ออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของพม่า ต่อการเพิกเฉยวิกฤตดังกล่าวว่า “จะมีประโยชน์อะไรจากการที่นางออง ซาน ซู จี ได้รับรางวัลรางวัลโนเบลสันติภาพ พวกเราต้องการบอกกับออง ซาน ซู จี ว่าพอคือพอ เราจะปกป้องชาวมุสลิมและศาสนาอิสลาม เราต้องการให้โอไอซี (องค์การความร่วมมืออิสลาม) ลงมือทำอะไร สักอย่าง ได้โปรดลงมือทำเถอะ ยูเอ็น (สหประชา ชาติ) เองก็ควรดำเนินการเช่นกัน โลกไม่ควรนั่งเฉยๆ และดูการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้น”
1
นายกฯ นาจิบยังเรียกร้องให้รัฐบาลอินโดนีเซียร่วมกดดันพม่า โดยย้ำถึงความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน หากพี่น้องถูกทำร้ายและละเมิดสิทธิมนุษยชน ชาติสมาชิกอาเซียนควรยื่นมือเข้าช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ที่สำคัญชาวมุสลิมโรฮิงยาก็เป็นมนุษย์ สมควรได้มีเสรีภาพ และสิทธิขั้นพื้นฐานเฉกเช่นเดียวกับคนอื่นๆ

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลพม่าเคลื่อนไหวด้วยการประกาศระงับส่งแรงงานไปยังมาเลเซียชั่วคราว เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. และยัง ไม่กำหนดว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ เพื่อความปลอดภัยของพลเรือนพม่า เพราะสถานการณ์ในมาเลเซียยังตึงเครียด มีกลุ่มมุสลิมสายเคร่ง เดินหน้าประท้วงทางการพม่า
3
ส่วนนางซู จี กล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า พม่ากำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งใหญ่ ซึ่งรัฐบาลสัญญาว่าจะเร่งดำเนินการฟื้นฟูสันติสุข และความปรองดอง แต่กลับไม่พูดถึงความรุนแรงในรัฐ ยะไข่ หลายฝ่ายจึงตั้งข้อสงสัยว่าปัญหามุสลิมโรฮิงยาของพม่าจะยังเป็นวิกฤตต่อเนื่อง

นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชา ชาติ และเป็น 1 ใน 9 คณะกรรมการที่ปรึกษาแก้ปัญหาความขัดแย้งรัฐยะไข่ ซึ่งนางซู จี แต่งตั้งขึ้นเมื่อเดือนส.ค. กล่าวระหว่างลงพื้นที่พิพาทว่า “ประเด็นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และทำลายล้างชนกลุ่มน้อย เป็นคำกล่าวหาที่ร้ายแรงมาก ผมจึงหวังว่ารัฐบาลพม่าจะอนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปในรัฐยะไข่เพื่อตีแผ่ข้อเท็จจริง และลดกระแสข่าวลือ”
2
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า นายอันนันพยายามลดความตึงเครียดจากกรณีในรัฐยะไข่ ด้วยการไม่รวบรัดตราหน้าว่ากองทัพพม่ากระทำการเข้าข่ายต่อต้านมนุษยชน เนื่องจากรัฐยะไข่กลายเป็นพื้นที่ปิดตาย ข้อมูลที่โลกภายนอกได้รับจึงมีเพียงคำพูดไร้หลักฐานและไม่สามารถชี้ชัดจนกว่าจะได้รับการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา

การมาเยือนของนายอันนันที่ดูเหมือนจะเข้าทีเพราะเป็นคนกลาง ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับฝ่ายไหน แต่ชาวพม่ากลับไม่ชอบใจ และรวมตัวต่อต้านคณะกรรมการที่ปรึกษากรณีรัฐยะไข่

นายซอว์ เทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานประธานาธิบดีพม่า กล่าวว่า “ประเทศสมาชิกอาเซียนควรเคารพการดำเนินการใดๆ ของพม่าต่อประเด็นความขัดแย้งในรัฐยะไข่ รัฐบาลพม่ากำลังทำงานอย่างหนักเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ขณะเดียวกัน มาเลเซียจำเป็นต้องเคารพกฎบัตรอาเซียนด้วยเช่นกัน”

พร้อมระบุว่าการกระทำของนายกฯ นาจิบ จะปลุกปั่นให้เกิดความสุดโต่งทางศาสนา และอาจมีเบื้องหลัง คือความพยายามซื้อใจกลุ่มมุสลิมสายเคร่งให้กลับมาสนับสนุนตนเอง หลังเสียคะแนนนิยมแบบดิ่งเหวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจากกรณีคอร์รัปชั่นกองทุนวัน มาเลเซีย ดีเวลลอปเมนต์ เบอร์ฮัด (1 เอ็มดีบี)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน