เว็บไซต์หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ สื่อรายใหญ่ของสหรัฐอเมริการายงานพยากรณ์ประเทศที่เสี่ยงเผชิญเหตุการณ์รัฐประหาร 161 ประเทศทั่วโลก ในปี 2560 พบว่าไทยได้อันดับ 2 มีคะแนนทิ้งห่างจากอันดับ 1 คือประเทศบุรุนดีในทวีปแอฟริกาเพียงเล็กน้อย

ผลการวิจัยครั้งนี้พัฒนาใช้ต้นแบบงานวิจัยของนายเจย์ อูลเฟลเดอร์ นักรัฐศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาที่ทำงานวิจัยทางการเมืองทั้งด้านการพัฒนาและภาวะไร้เสถียรภาพ จับตาเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศต่างๆ ระหว่างปี 2555-2558

ทีมงานของวอชิงตันโพสต์ ได้แก่ นายไมเคิล ดี. วอร์ด และนายอันเดรส เบเกอร์ นำมาพัฒนาต่อ อาศัยฐานข้อมูลสถิติจากองค์กรวิจัยทั่วโลก เช่น การเมือง การทหาร ความขัดแย้ง รวมทั้งเรื่องปากท้อง และราคาน้ำมันโลก ตั้งแต่ปี 2503 ถึง 2560

 

จากนั้นทีมนักวิจัยจึงใช้สถิติเปรียบเทียบเพื่อประเมินความเสี่ยง เช่น รัฐประหารที่สำเร็จอย่างในประเทศไทย ปี 2557 และรัฐประหารที่ลงเอยล้มเหลวอย่างในตุรกี เมื่อปี 2559 เมื่อนำข้อมูลนี้มารวมกันแล้วจึงได้ค่าความเสี่ยงในแต่ละประเทศ

 

กราฟแสดงการประเมินความเสี่ยงรัฐประหาร สีแดงคือแนวโน้มความพยายามจะก่อรัฐประหาร สีฟ้า รัฐประหารที่เคยล้มเหลว และสีเขียว รัฐประหารทีทำสำเร็จ

ผลออกมาว่า 5 ประเทศอันดับแรกที่เสี่ยงจะเกิดรัฐประหารในปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบคะแนนที่เคยเกิดเหตุรัฐประหารสำเร็จและรัฐประหารล้มเหลว ได้แก่ อันดับ 1 บุรุนดี ร้อยละ 12, อันดับ 2 ไทย ร้อยละ 11, อันดับ 3 สาธารณรัฐแอฟริกากลาง ร้อยละ 11, อันดับ 4 สาธารณรัฐชาด ร้อยละ 10 และอันดับ 5 ตุรกี ร้อยละ 10

นอกจากนี้เมื่อประเมินถึงโอกาสของการทำรัฐประหารในปี 2560 ที่จะสำเร็จแล้ว บุรุนดีและไทยมีโอกาสเท่ากันที่ร้อยละ 6 ขณะที่สาธารณรัฐแอฟริกากลางอยู่ที่ร้อยละ 8 ส่วนชาดและตุรกีอยู่ที่ร้อยละ 4
งานวิจัยระบุด้วยว่า ประเทศที่เกิดความเสี่ยงต่ำไม่ได้หมายความว่ารัฐประหารจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่เป็นการนำเสนอมุมมองภาพรวม กล่าวคือ หากประเทศ 10 ประเทศ มีความเสี่ยงถึงร้อยละ 10 ก็อาจเห็นรัฐประหารเกิดขึ้นโดยเฉลี่ย 1 ครั้ง

ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มเสี่ยง สีเข้มอยู่ตรงกลางภูมิภาคอาเซียน

 

วอชิงตันโพสต์ระบุว่า กลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อรัฐประหารเป็นเครื่องสะท้อนถึงความไร้เสถียรภาพ เช่น บุรุนดีที่ตกอยู่ภายใต้วิกฤตการเมืองนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 เมื่อนายปิแอร์ นกูรุนซิซา ประธานาธิบดีบุรุนดี ต้องการสืบอำนาจต่อและดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศในวาระที่สาม

ขณะที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกที่จำกัดเสรีภาพพลเรือนอย่างเข้มงวดนับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อปี 2557 ต่อมามีประชามติเห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี 2559 และกำหนดจะจัดการเลือกตั้งในปี 2560 แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนชี้ว่า การเลือกตั้งจะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นต่อความพยายามรัฐประหารในอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน