ยูเอ็นให้สถานะ “ลี้ภัย” สาวซาอุฯ ออสเตรเลียพิจารณาให้วีซ่าช่วย

ยูเอ็นให้สถานะ “ลี้ภัย” สาวซาอุฯ ออสเตรเลียพิจารณาให้วีซ่าช่วย – วันที่ 9 ม.ค. บีบีซี รายงานความคืบหน้ากรณีของนางสาวราฮัฟ โมฮัมเหม็ด เอ็ม อัล-คูนุน อายุ 18 ปี ชาวซาอุดีอาระเบีย ที่หนีจากครอบครัวเพื่อลี้ภัยไปประเทศออสเตรเลีย แต่ถูกกักตัวที่สนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศไทย

ล่าสุด ทางการออสเตรเลียเปิดเผยว่าสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นเอชซีอาร์ รับรองสถานะของน.ส.ราฮัฟว่าเป็นผู้ลี้ภัยแล้ว โดยทางสำนักงานผู้อพยพของยูเอ็นขณะนี้ประสานงานกับหน่วยงานของออสเตรเลียเพื่อขอให้รัฐบาลออสเตรเลียพิจารณาคำขอลี้ภัยของน.ส.ราฮัฟ

แถลงการณ์ของกระทรวงกิจการภายในประเทศ (เทียบเท่ามหาดไทย) ระบุว่า “รัฐบาลออสเตรเลียจะดำเนินการพิจารณาคำขอลี้ภัยตามกระบวนการขั้นตอนปกติ และทางการออสเตรเลียจะไม่ขอแสดงความคิดเห็นใดๆ อีกต่อกรณีที่เกิดขึ้น”

นายเกรก ฮันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออสเตรเลีย กล่าวว่า หากรัฐบาลออสเตรเลียพบว่าน.ส.ราฮาฟมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย ก็มีแนวโน้มที่ทางการออสเตรเลียจะพิจารณาอย่างจริงจังมากๆ ในการให้วีซ่าเพื่อเดินทางมายังออสเตรเลียบนพื้นฐานของหลักมนุษยธรรม

AFP PHOTO

ขณะที่นางมาริส เพย์น รมว.ต่างประเทศออสเตรเลีย อยู่ระหว่างเดินทางเยือนประเทศไทยตามกำหนดการเดิม

ทั้งนี้สถานะ “ผู้ลี้ภัย” ตามปกติแล้วมักได้รับการรับรองโดยหน่วยงานของรัฐบาลของชาติต่างๆ แต่ยูเอ็นเอชซีอาร์มีความสามารถที่จะรับรองสถานะดังกล่าวแก่บุคคลได้ ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐบาลของชาติต่างๆ ไม่รับรอง หรือไม่สามารถรับรองสถานะดังกล่าวให้กับบุคคลนั้นๆ ได้ อย่างไรก็ตาม ยูเอ็นเอชซีอาร์ ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นต่อทุกกรณีในรูปแบบดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อบุคคลใดๆ ได้รับสถานะลี้ภัยแล้วจากยูเอ็นเอชซีอาร์ ชาติผู้ลงนามและให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพีธีสาร พ.ศ. 2510 จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ได้วางเอาไว้ แม้ยูเอ็นจะไม่มีอำนาจบังคับ แต่สามารถส่งคำร้องไปยังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือไอซีเจ นครเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้

ขณะที่ประเทศไทยนั้นไม่ได้เป็นชาติที่ลงนามทั้งอนุสัญญาและพิธีสารข้างต้น แตกต่างกับออสเตรเลียที่เป็นหนึ่งในชาติลงนามและให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาและพิธีสารแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน