นาซาจับภาพ shockwaves คลื่นกระแทก นาทีซูเปอร์โซนิกแหวกฟ้า

นาซาจับภาพ shockwaves – เมื่อ 8 มี.ค. เอเอฟพีรายงานว่า องค์การบริหารอวกาศและการบินแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา หรือ นาซา เผยแพร่ภาพคลื่นช็อกเวฟ หรือ คลื่นกระแทก จากเครื่องบินซูเปอร์โซนิก หรือเครื่องบินความเร็วเหนือเสียง 2 ลำที่บินทดสอบความเร็ว ที่เร็วชนิดไม่เกิดเสียงดังสนั่นหวั่นไหวใดๆ

การทดสอบนี้มีขึ้นที่ ศูนย์วิจัยการบินอาร์มสตรองของนาซา ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อเครื่องบินเหินผ่านจุดเหนือระดับน้ำทะเล ด้วยความเร็วสูง 1,225 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงผลิตคลื่นดังกล่าวจากแรงดันที่บินฝ่าอากาศโดยรอบ

เครื่องบินซูเปอร์โซนิก T-38 ทั้งสองลำบินห่างกันที่ระยะ 9 เมตร และมีเครื่องบินอีกลำอยู่ด้านล่างเพื่อบันทึกภาพด้วยกล้องที่จับภาพความเร็วสูง เมื่อเครื่องซูเปอร์โซนิกทะยานขึ้นไปยังจุดนัดพบที่ระยะ 9,000 เมตร จึงจับภาพช็อกเวฟได้จากเครื่องบินทั้งสอง

นีล สมิธ วิศวกรจากบริษัท แอโรสเปซคอมพิวติง อิงค์ ผู้ทำงานร่วมกับนาซา กล่าวว่า ขณะที่เครื่องบินลำหนึ่งบินไล่หลังอีกลำหนึ่ง คลื่นก็ก่อตัวให้รูปร่างที่แตกต่างออกไป

นาซาจับภาพ shockwaves

This handout colorized composite image released by NASA on February 7, 2019 shows two T-38 aircrafts flying in formation at supersonic speeds producing shockwaves that are typically heard on the ground as a sonic boom. – (Photo by HO / NASA / AFP)

“ข้อมูลนี้จะช่วยทำให้เราเข้าใจปฏิกิริยาคลื่นกระแทกต่อกันอย่างไร” นายสมิธกล่าว

โซนิกบูม หรือ เสียงดังสนั่นแสบแก้วหูนั้น ไม่เพียงเป็นปัญหาเสียงรบกวนสำหรับผู้คนบนพื้นดิน ยังทำให้กระจกหน้าต่างแตกกระจาย จึงทำให้ต้องมีระเบียบควบคุมการบินเครื่องบินเร็วเหนือเสียงอย่างเคร่งครัด ในสหรัฐอเมริกา หรือบางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ ห้ามเครื่องโซนิกบูม บินผ่านน่านฟ้า

การทดสอบเก็บภาพช็อกเวฟของนาซา จะช่วยให้หาช่องทางแก้ปัญหาเครื่องเสียงลง และต่อไปอาจผ่อนผันกฎระเบียบการบินลง และการนำเครื่องบินพาณิชย์เร็วเหนือเสียงกลับมา หลังจากเครื่องคองคอร์ด อำลาวงการไปตั้งแต่ปี 2546

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน