นาซ่าเพิ่งเผยข้อมูลดาวหางระเบิดกลางฟ้า เต้นระบบเตือนล่วงหน้าไม่ทั่วถึง ชี้อีก 30 ปีถึงสมบูรณ์

นาซ่าเพิ่งเผยข้อมูลดาวหางระเบิดกลางฟ้า – วันที่ 19 มี.ค. เอกส์เพรสส์รายงานว่า องค์การบริหารการบินและอวกาศของสหรัฐอเมริกา หรือนาซ่า เผยข้อมูลเหตุดาวหางพุ่งเข้าหาโลกระเบิดกลางชั้นบรรยากาศที่คาบสมุทรคัมชัตคา ประเทศรัสเซีย เมื่อเดือนธ.ค. 2561 แรงระเบิดรุนแรงที่สุดเป็นอันดับสองในรอบ 30 ปี และมากกว่าเหตุอุกกาบาตเมืองเชเลียบินสค์ ประเทศรัสเซีย เมื่อ 6 ปีที่แล้ว

ลินด์ลีย์ จอห์นสัน เจ้าหน้าที่จากศูนย์ความมั่นคงดาวเคราะห์โลกของนาซ่า กล่าวว่า แรงระเบิดของอุกกาบาต คิดเป็น 10 เท่าของพลังงานที่ปลดปล่อยจากระเบิดนิวเคลียร์ที่จังหวัดฮิโรชิมาของญี่ปุ่น

โดยอุกกาบาตทำมุมตกลงมายังโลกประมาณ 7 องศา เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 18 ธ.ค. 2561 ต่อมาระเบิดกลางท้องฟ้าเหนือน้ำทะเลประมาณ 25 กิโลเมตร มีพลังงาน 173 กิโลตัน

เคลลี ฟาสต์ ผู้อำนวยการสำนักงานสังเกตการณ์วัตถุอวกาศใกล้โลก กล่าวว่า พลังงานข้างต้นคิดเป็นร้อยละ 40 ของพลังงานทั้งหมดในเหตุอุกกาบาตเมืองเชเลียบินสค์ แต่เคราะห์ดีที่เกิดขึ้นเหนือทะเลเบริง จึงไม่ก่อให้เกิดความเสียหายเหมือนกับเชเลียบินสค์ ถือเป็นเกราะป้องกันหนึ่งของมนุษย์ ที่ดาวเคราะห์โลกนั้นมีส่วนที่เป็นน้ำทะเลเสียส่วนใหญ่

เหตุการณ์ในครั้งนั้นดาวเทียมของกองทัพอากาศสหรัฐตรวจจับการระเบิดได้และส่งข้อมูลต่อมายังนาซ่า สะท้อนว่า มหันตภัยอุกกาบาตชนโลกนั้นอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้าได้ การพัฒนาระบบสังเกตการณ์เพื่อรับมือจึงจำเป็น

ซึ่งทางสภาคองเกรสเมื่อปี 2548 เคยมีมติให้นาซ่าทำหน้าที่ตรวจการณ์ท้องฟ้าทั่วโลก และเตือนภัยหากพบอุกกาบาตขนาด 140 เมตรขึ้นไปกำลังพุ่งเข้าหาโลกไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 แต่ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันนาซ่าระบุว่า อาจต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 30 ปี จึงจะทำได้

เหตุที่ต้องใช้เวลานั้นเนื่องจากนาซ่าจำเป็นต้องมีฐานสังเกตการณ์ทั้งบนโลกและนอกโลก ยานอวกาศติดตั้งกล้องถ่ายภาพ นีโอแคม กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาและอาจถูกส่งขึ้นไปประจำการบนระดับวงโคจรเพื่อใช้สังเกตการณ์

ดร.เอมี่ เมนเซอร์ จากศูนย์ศึกษาวัตถุอวกาศใกล้โลกของห้องปฏิบัติการพลังขับเคลื่อนไอพ่น หรือเจพีแอล ของนาซ่า กล่าวว่า “นาซ่ากำลังพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายร้อยละ 90 ที่ว่าให้ได้ใกล้เคียงที่สุด ซึ่งทางคองเกรสสั่งมา”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน