พบปมญี่ปุ่นคลั่งแทง จิตแพทย์ชี้ต้องการฆ่าตัวตายให้โลกตะลึง

พบปมญี่ปุ่นคลั่งแทง – เมื่อ 4 มิ.ย. เอ็นเอชเค รายงานเจาะลึกรายละเอียดคดีสะเทือนขวัญญี่ปุ่นที่มือมีดวัย 51 ปีไล่แทงฝูงชน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน บริเวณป้ายรถเมล์ หน้าโรงเรียนมัธยม เมืองคาวาซากิ คร่าชีวิตเหยื่อ 2 ราย เป็นเด็กนักเรียนหญิงอายุ 12 ปี และข้าราชการหนุ่มอีกราย ก่อนคนร้ายแทงตัวตาย ว่าสื่อมวลชนญี่ปุ่นพากันสรุปว่าผู้ก่อเหตุเข้าข่าย “ฮิคิโกะโมริ” หรือ การถอนตัวจากสังคม

จากการสอบประวัติ ริวอิจิ อิวาซากิ มือมีด วัย 51 ปี ผู้ก่อเหตุวันที่ 28 พ.ค. มีลักษณะฮิคิโกะโมริ จากการว่างงานมาหลายปี และปลีกตัวจากสังคม เหมือนผู้ที่เป็น ฮิคิโกะโมริ ที่ไม่ชอบไปไหน ไม่ทำอะไรเลย ไม่พบใคร แยกตัวเองออกจากสังคมโดยเก็บตัวอยู่ในบ้านเป็นเดือนๆ หรือหลายปี

แต่เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ว่าอิวาซากิไม่น่าเป็นโรคฮิคิโกะโมริ เพราะยังดูแลตัวเอง ทำอาหารและซักผ้าเอง

แหล่งข่าวจากฝ่ายสอบสวนเปิดภาพจากกล้องวงจรปิดหลายจุดและพบว่าชายคล้ายนายอิวาซากิไปปรากฏตัวที่สถานีรถไฟและสถานที่ใกล้กับที่เกิดเหตุ 4 วันก่อนลงมือ ซึ่งตำรวจสันนิษฐานว่าเขาอาจมาดูลาดเลาเอาไว้ก่อน ส่วนมีดยาว 30 ซ.ม. เล่มที่ใช้ก่อเหตุ นายอิวาซากิซื้อไว้ตั้งแต่เมื่อเดือน ก.พ. และยังพบมีดอีกหลายเล่มในเป้สะพายหลัง

บ้านผู้ก่อเหตุ – Members of the media surround the house of Ryuichi Iwasaki during a police search in Kawasaki, near Tokyo, Wednesday, May 29, 2019. . (Kyodo News via AP)

ด้าน ศาสตราจารย์ ทากายูกิ ฮาราดะ แห่งมหาวิทยาลัยซึกุบะ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเกี่ยวกับอาชญากรรม กล่าวว่า การซื้อมีดเก็บไว้และการวางแผนแสดงถึงความตั้งใจที่จะฆ่าคนอื่นหรืออาจเป็นการตั้งใจฆ่าตัวตายก็ได้

แต่เมื่อพิจารณาจากเจตนาแล้วเห็นว่าเป็นการจงใจขยายความการฆ่าตัวตาย โดยต้องการให้คนทั้งโลกสนใจตัวเอง

อิวาซากิอาศัยอยู่กับลุงและป้าอายุประมาณ 80 ปี ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 4 ก.ม. ทั้งคู่เคยปรึกษาภาวะทางจิตของหลานกับเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการสังคมเมื่อปี 2560 เพราะเป็นคนเก็บตัวและสื่อสารกันไม่ราบรื่น อีกทั้ง เป็นห่วงอนาคตหลานเพราะนับวันลุงกับป้าก็ชราภาพมากขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่จึงแนะนำให้เขียนจดหมายคุยกัน ลุงกับป้าจึงทิ้งจดหมายไว้หน้าห้องหลาน

พบปมญี่ปุ่นคลั่งแทง

นายอิวาซากิ สมัยเป็นนักเรียน / NHK

โมริโตะ อิชิซากิ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร “ฮิคิโพส” ซึ่งเขียนบทความประสบการณ์ผู้ที่เป็นโรคฮิคิโกะโมริ บอกว่าเขาเองก็เคยเก็บตัว และเห็นว่าแม้คนส่วนใหญ่อาจจะมองว่าคนเป็นฮิคิกะโมริเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงจากเหตุการณ์แทงหมู่ แต่ต้องแยกแยะระหว่างคนเป็นโรคฮิคิโกะโมริกับผู้ก่อเหตุ พร้อมกับเตือนว่าการรังเกียจเดียดฉันท์ หรือเลือกปฏิบัติกับคนที่เป็นโรคนี้ ยิ่งทำให้พวกเขาเหล่านี้รู้สึกเลวร้ายยิ่งขึ้น

ผลการสำรวจของคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นพบเมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา พบว่าประชาชนประมาณ 613,000 คนที่อยู่ในช่วงอายุ 40-64 ปีเป็นโรคฮิคิโฮโมริซึ่งเป็นการสำรวจกับกลุ่มอายุนี้เป็นครั้งแรกและยังพบด้วยว่ากลุ่มอายุดังกล่าวมีจำนวนมากกวากลุ่มอายุ 15-39 ซึ่งเป็นฐานกลุ่มเดิม

เหตุการณ์วันที่ 28 พ.ค. This aerial photo shows the scene of an attack in Kawasaki, near Tokyo Tuesday, May 28, 2019. (Jun Hirata/Kyodo News via AP)

อิชิซากิบอกว่าคนหนุ่มสาวมีความกังวลเรื่องความสัมพันธ์และเพื่อน ขณะที่กลุ่มวัยกลางคนและกลุ่มผู้สูงอายุต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดภายใต้แรงกดดันหลายๆ เรื่อง จึงพอจะนึกภาพออกว่าอิวาซากิมีอายุประมาณ 50 ปีหรือแก่กว่านั้น อาจรู้สึกไร้อนาคตเพราะตกงานมานานและอาจคิดฆ่าตัวตาย มากกว่าคิดแยกตัวออกจากสังคมไปตลอดชีวิต

สิ่งสำคัญ คือ ต้องพัฒนาความสัมพันธ์กับคนที่แยกตัวจากสังคมรอบข้างและไม่ตราหน้าพวกเขาว่าเป็น “ฮิคิโกะโมริ” เพราะยิ่งตอกย้ำให้คนกลุ่มนี้เจ็บลึก แต่ควรสร้างบรรยายกาศให้ดีขึ้นทีละนิด เริ่มด้วยการสื่อสารและพยายามสร้างความสัมพันธ์ให้เขาไว้ใจได้เพื่อป้องกันเหตุซ้ำรอยในเมืองคาวาซากิ

++++++

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน