พบสัตว์สูญพันธุ์ โผล่อื้อที่นครสีขาวแห่งเทพเจ้าวานร ในป่าลึกอเมริกากลาง

พบสัตว์สูญพันธุ์ – วันที่ 24 มิ.ย. เดลีเมล์ รายงานว่า นักสำรวจตกตะลึงพบสัตว์หลายชนิดที่เคยคิดว่าสูญพันธุ์ไปแล้วในพื้นที่ “เมืองสาบสูญแห่งเทพเจ้าวานร” ลึกเข้าไปในกลางป่าดิบมอสควิเตีย ประเทศฮอนดูรัส ชาติในทวีปอเมริกากลาง

การค้นพบดังกล่าวเป็นผลงานของคณะนักสำรวจจากโครงการประเมินสิ่งแวดล้อมต่อเนื่อง (RAP) ขององค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติ โดยพบสัตว์ที่คาดว่าสูญพันธุ์ไปแล้วถึง 3 สปีชีส์ ได้แก่ ค้างคาวหน้าขาว (Pale-faced Bat) ซึ่งไม่ได้พบมานานกว่า 75 ปีแล้วในฮอนดูรัส

พบสัตว์สูญพันธุ์

ถัดมาเป็น งูต้นไม้ปลอมสีปะการัง (False Tree Coral Snake) พบครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2508 และ ด้วงเสือ (tiger beetle) ซึ่งเคยพบเพียงครั้งเดียวในโลกที่ประเทศนิการากัว และคาดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว

นายทรอนด์ ลาร์เซน หนึ่งในคณะสำรวจ กล่าวว่า ทางทีมสำรวจรู้สึกตกใจมากกับการค้นพบถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศแห่งนี้ และความหลากหลายทางชีวภาพ มีสัตว์หายสปีชีว์ที่คาดว่าสูญพันธุ์ไปนานมากแล้ว โดยพื้นที่นี้ นับเป็นหนึ่งในสถานที่สุดท้ายที่มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติของอเมริกากลาง

เมืองสาบสูญแห่งเทพเจ้าวานร เป็นนครโบราณตามเรื่องเล่าของชนเผ่าฮอนดูรัส และนักสำรวจสเปน ระบุถึงมหานครสีขาวที่เต็มไปด้วยสมบัติจำนวนมหาศาลหายสาบสูญไปในป่าลึกมอสควิเตีย เคยสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้ว

นครโบราณดังกล่าวเพิ่งถูกค้นพบในปี 2558 จากที่ซ่อนกลางป่าดิบที่มีความหนาทึบที่สุดในโลก และล้อมรอบด้วยผาชันรอบด้านนานกว่า 600 ปี นำมาสู่การส่งคณะสำรวจเข้าไปประเมินระบบนิเวศล่าสุด พบสัตว์จำนวน 22 สปีชีส์ ที่ไม่เคยปรากฏบันทึกการค้นพบในฮอนดูรัสมาก่อน

นอกจากนี้ นักสำรวจยังตกตะลึงกับการค้นพบปลาชนิดใหม่ในวงศ์ปลาสอด หรือพอซิลิเด (Poeciliidae) เพคคารีปากขาว ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายหมู พวกมันมีความไวต่อป่าที่ถูกทำลายและระบบนิเวศที่เสื่อมโทรม เคยพบได้ตามป่าดิบทั่วอเมริกากลาง แต่หายไปนานแล้ว

เพคคารีดังกล่าวเป็นอาหารของสัตว์นักล่าอย่างเสือจากัวร์ และพูม่า ซึ่งพบได้ในป่าแห่งนี้ด้วย ถือเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความสมบูรณ์แบบของห่วงโซ่อาหารซึ่งหาได้ยากมากในปัจจุบัน คณะนักสำรวจพบผีเสื้อและมอธ 246 สปีชีส์ ค้างค้าว 30 สปีชีส์ และสัตว์เลื้อยคลาน 57 สปีชีส์

นอกจากสัตว์แล้วยังพบพืชอีก 58 สปีชีส์ ในจำนวนนี้ บางส่วนมีความสำคัญในการศึกษาบรรพชีวินวิทยา เพราะเป็นพืชที่ชนเผ่าโบราณในพื้นที่เมโสอเมริกา (อเมริกากลาง) ใช้ในวิถีชีวิต เช่น เมล็ดโกโก้สายพันธุ์โบราณ ซึ่งนายลาร์เซนย้ำถึงความสำคัญในการปกป้องระบบนิเวศในพื้นที่ดังกล่าว

ดร.จอห์น โปลิซาร์ ผู้ประสานงานโครงการอนุรักษ์ระบบนิเวศเสือจากัวร์ และหนึ่งในสมาชิกคณะสำรวจ ระบุว่า สถานที่ข้างต้นเป็นระบบนิเวศที่ยอดเยี่ยมที่สุดในการทำงานสำรวจนาน 14 ปี ของตน

“สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของระบบนิเวศแห่งนี้ คือ ความสมบูรณ์ของห่วงโซ่อาหาร โดยมีสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยากมากในภูมิภาคอเมริกากลางปัจจุบัน” โปลิซาร์ ระบุ

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน