ดูดีมีราคา ไอศกรีมทำจากน้ำนม “แมลง” ธุรกิจใหม่แอฟริกาใต้

ดูดีมีราคา – วันที่ 25 ก.ค. ซีเอ็นเอ็น นำเสนอไอศกรีมที่ทำจากน้ำนมที่มีส่วนผสม “แมลง” เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการนำโปรตีนจากแมลงมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารแทนโปรตีนจากปุศสัตว์ดั้งเดิม

ไอศกรีมดังกล่าวเป็นของ กูร์เม กรับบ์ ธุรกิจสตาร์ต-อัพ ในเมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ โดยใช้ เอ็นโทมิลค์ น้ำนมที่ทำจากตัวอ่อนของแมลงเขตร้อนอย่าง หนอนแมลงวันลาย

ไอศกรีมกูร์เม กรับบ์ มีรสชาติทั้งช็อกโกแลต เนยถั่ว และเครื่องเทศคริสต์มาส ส่วนเอ็นโทมิลค์มีรสชาติเหมือนดินผสมอ่อนๆ และทำให้ตัวไอศกรีมมีครีมเข้มข้นไม่เพียงรสชาติดี แต่ยังมีสารอาหารสูงด้วย โดยเอ็นโทมิลค์มีโปรตีนสูงกว่านมปกติถึง 5 เท่า

เบสซากล่าวว่า แมลงหลายชนิดมีไขมันและโปรตีนและแร่ธาตุสูง โดยหนอนแมลงวันลายมีส่วนประกอบโปรตีนและไขมันเทียบเท่ากับเนื้อวัว และมีแร่ธาตุอย่างสังกะสี เหล็ก และแคลเซียม มากกว่าในเนื้อวัวด้วย

นอกจากนี้ เอ็นโทมิลค์ยังเป็นนมปราศจากแลกโตสและกลูเตน อีกทั้ง ไม่มีคาร์โบไฮเดรตหรือน้ำตาลเหมือนนมทั่วไป

styled choc shot

“เราตัดสินใจมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมอาหารที่อยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาลเนื่องจากปัญหาสวัสดิภาพสัตว์และสิ่งแวดล้อม แมลงไม่ใช่สรรพสัตว์ (sentient beings) และจะเติบโตในสภาพแวดล้อมสำหรับการเติบโตเท่านั้น ดังนั้น สภาพการเพาะเลี้ยงแมลงต้องตอบสนองกับความต้องการสวัสดิภาพสัตว์ของแมลงด้วย” น.ส.เลียห์ เบสซา หนึ่งในเจ้าของร่วม กูร์เม กรับบ์ ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2560 กล่าว

กูร์เม กรับบ์ เผยว่า เอ็นโทมิลค์เป็นน้ำนมและแหล่งพลังงานที่มีประสิทธิภาพในการผลิตมากกว่านมทั่วไปหรือนมทางเลือกชนิดอื่น เนื่องจากแมลงต้องการน้ำ อาหาร และพื้นที่เพียงน้อยนิดมาก อีกทั้ง ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยหรือไม่มีเลยเมื่อเทียบกับปศุสัตว์ดั้งเดิม

การเพาะเลี้ยงแมลงสามารถทำในที่ร่มขนาดเล็กได้ จึงสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมในการเพาะเลี้ยงในเขตเมืองได้ ลดภาระการขนส่งนมเข้าตัวเมือง รวมถึงแมลงเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศภายนอกที่ควบคุมไม่ได้น้อยกว่าปศุสัตว์และพืชผล

ในปัจจุบัน ไอศกรีมกูร์เม กรับบ์ จำหน่ายเฉพาะในแอฟริกาใต้ อย่างไรก็ตาม มีการคะเนว่า ตลาดขายแมลงกินได้ทั่วโลกจะสูงถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566

ทั้งนี้ สหประชาชาติ หรือยูเอ็น ทำนายว่า โลกจะต้องการผลิตภัณฑ์อาหารเป็นสองเท่าเพื่อเลี้ยงประชากรทั่วโลกในปี 2593 ตลอดที่ผ่านมา ยูเอ็นจึงส่งเสริมการเพาะเลี้ยงแมลงเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกอย่างยั่งยืนสำหรับปศุสัตว์ดั้งเดิม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน