เผยโฉมบรรพบุรุษมนุษย์ เมื่อ 3.8 ล้านปีก่อน หน้าตาแบบนี้

เผยโฉมบรรพบุรุษมนุษย์ซีเอ็นเอ็น รายงานการค้นพบกะโหลกมนุษย์โบราณ Australopithecus afarensis (ออสทราโลพิเทคัส อะฟาเรนซิส) เป็นครั้งแรกเผยถึงโฉมหน้าบรรพบุรุษของมนุษย์ตอนต้น

นิตยสาร เนเจอร์ ตีพิมพ์บทความเรื่องราวของนักวิจัยจากศูนย์มานุษยวิทยาโวรันโซ-มิลล์ ค้นพบขากรรไกรด้านบนของมนุษย์โบราณในรัฐอะฟาร์ของเอธิโอเปีย เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2559 และใช้เวลาอีก 16 ช.ม. จึงพบชิ้นส่วนที่เหลือ รวมทั้งกะโหลกศีรษะ

สันนิษฐานว่า ออสทราโลพิเทคัส อะมาเนนซิส (amanensis) หรือ เอ็มอาร์ดี น่าจะมีชีวิตอยู่ในช่วง 3.9- 4.2 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของ ออสทราโลพิเทคัส อะฟาเรนซิส ยุคเดียวกับ “ลูซี” ที่คาดว่ามีชีวิตอยู่ในช่วง 3-3.8 ล้านปีที่แล้ว

กะโหลกที่พบนี้อยู่ห่างจากจุดที่พบกะโหลกของลูซี่ไปทางเหนือประมาณ 54 ก.ม. ส่วนกะโหลกลูซีพบในปี 2517

คณะนักวิจัยนานาชาติประกอบด้วยนักธรณีวิทยา นักพฤกษศาสตร์โลกโบราณ และนักมานุษยวิทยา ร่วมกันตรวจสอบอายุของกะโหลกและศึกษาสภาพแวดล้อมบริเวณที่พบ เชื่อว่าน่าจะเป็นกะโหลกผู้ชายที่ถูกนำมาฝังไว้ที่แม่น้ำแล้วถูกตะกอนดินปากแม่น้ำทับถมร่าง ดังนั้น อะมาเนนซิสจึงน่าจะอาศัยริมแม่น้ำที่โอบล้อมไปด้วยต้นไม้

นาโอมิ เลวิน จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐฯ สันนิษฐานว่า เอ็มอาร์ดี น่าจะอาศัยใกล้ทะเลสาบกวางใหญ่ที่แห้งขอด และกำลังศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศที่ส่งผลต่อวิวัฒนาการของมนุษย์

นักวิจัยศึกษากะโหลกมนุษย์โบราณโดยนำไปเปรียบเทียบกับสปีชีส์โอมินินที่พบทางตะวันออกและทางใต้ของแอฟริกาเพื่อศึกษาว่ามีความเกี่ยวข้องกับสปีชีส์อื่นอย่างไร

สเตฟานี เมลิลโล นักวิจัยจากสถาบันวิวัฒนาการมานุษยวิทยา มักซ์ พลังก์ บอกว่า มนุษย์ตอนต้นใช้เครื่องมือและมีพัฒนาการในการรับประทานอาหาร มนุษย์ในยุคนั้นมีใบหน้ายื่นและโหนกแก้มยาวออกมาด้านหน้าซึ่งเหมาะสำหรับการเคี้ยวอาหารเหนียวๆ และฟันที่พบในกะโหลกก็มีขนาดใหญ่มาก

ส่วนกะโหลกแคบและเล็กเหมือนของบรรพบุรุษของมนุษย์อื่นๆ ต่อมาสมองใหญ่ขึ้นเมื่อถึงยุคโฮโม ซึ่งอาจเป็นเพราะโฮโมมีการใช้เครื่องมือมากขึ้น กินเนื้อมากขึ้น และออกเดินทางไปรอบๆ ถิ่นที่อยู่มากขึ้น ทำให้ต้องมีการตัดสินใจมากขั้นนั่นเอง

ที่ผ่านมา ยังมีช่องว่างใหญ่ระหว่างบรรพบุรุษมนุษย์ตอนต้นซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อ 6 ล้านปีก่อนกับสปีชีส์อื่นๆ เช่น ลูซี ซึ่งมีชีวิตเมื่อ 3 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งผลการค้นพบกะโหลกเอ็มอาร์ดีเป็นเสมือนสะพานเชื่อมลักษณะทางสัณฐานวิทยาระหว่างมนุษย์สองกลุ่มนี้

ก่อนหน้านี้ นักวิจัยเชื่อว่าอะมาเนนซิส เป็นต้นกำเนิดของอะฟาเรนซิส แต่จากการเปรียบเทียบโครงสร้างกะโหลกเอ็มอาร์ดี กับกะโหลกของมนุษย์อะฟาเรนซิสที่มีชีวิตอยู่เมื่อ 3.9 ล้านปีก่อน ทำให้พบว่าทั้ง 2 สปีชีส์น่าจะอยู่ในช่วงที่คาบเกี่ยวกันหรืออยู่ร่วมกันอย่างน้อย 1 แสนปี

ด้านโยฮันเนส เฮล-เซลาสซี นักมานุษยวิทยาแห่งพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติคลีฟแลนด์ สงสัยว่า สปีชีส์ใหม่อยู่ร่วมสมัยกับสปีชีส์รุ่นพ่อแม่ได้อย่างไร ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ามีกลุ่มประชากรเล็กๆ ยังคงอยู่และเกิดวิวัฒนาการจนแตกต่างจากสปีชีส์พ่อแม่

อะมาเนนซิสและอะฟาเมนซิสอยู่ในบริเวณใกล้กัน แต่คงมีการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา เช่น ภูเขาไฟปะทุ ทำให้บางพื้นที่ยกตัวสูงขึ้นส่งผลให้ประชากรกลุ่มหนึ่งแยกตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยวในภูมิภาคอะฟาร์ของเอธิโอเปียนั่นเอง

++++++++++++

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน