กล้องจับความร้อนช่วยชีวิต ให้หมอตรวจ เจอก้อนมะเร็งเต้านม

กล้องจับความร้อนช่วยชีวิต – วันที่ 24 ต.ค. ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า หญิงวัย 41 ปี ถูกตรวจพบมะเร็งเต้านม หลังเจ้าตัวสงสัยเพราะเห็นภาพก้อนความร้อนบริเวณเต้านมข้างหนึ่งตอนย้อนดูภาพถ่ายจากกล้องตรวจจับความร้อนที่ได้มาจากการไปท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์จัดแสดงภาพลวงตาที่สก็อตแลนด์

เหตุเกิดหลังนางบัล กิลล์ อายุ 41 ปี ซึ่งเดินทางไปเที่ยวที่พิพิธภัณฑ์จัดแสดงภาพลวงตา กรุงเอดินบะระ ของสก็อตแลนด์ พบก้อนความร้อนบริเวณเต้านมข้างหนึ่งของตัวเองในภาพที่ระลึกจากกล้องจับความร้อนในงานดังกล่าว

กล้องจับความร้อนช่วยชีวิต

นางกิลล์จึงเดินทางไปโรงพยาบาลและนัดตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พบว่า เป็นมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น ขณะที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนสังคมว่า เทคโนโลยีกล้องตรวจจับความร้อนนั้นไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งได้

กิลล์ เล่าว่า ตอนที่เห็นภาพนั้นตนค้นคว้าหาบทความอ่านทางกูเกิ้ล และพบงานวิจัยหนึ่งที่กล่าวถึงก้อนเนื้อมะเร็งกับการตรวจจับด้วยกล้องจับความร้อน โดยหลังเข้ารับการรักษานางกิลล์เขียนจดหมายแสดงความขอบคุณไปยังหน่วยงานของพิพิธภัณฑ์ด้วย

“ตอนนี้ดิฉันผ่าตัดไปแล้ว 2 ครั้ง เหลืออีกครั้งหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เนื้อร้ายลุกลาม ดิฉันเพียงอยากขอบคุณ เพราะถ้าหากไม่ได้กล้องดังกล่าวของพวกคุณแล้วดิฉันคงไม่มีวันทราบ แม้จะไม่ใช่จุดประสงค์ของกล้อง แต่มันเปลี่ยนชีวิตของดิฉันไปตลอดกาล” กิลล์ ระบุ

นายแอนดรูว์ จอห์นสัน ประธานผู้จัดการพิพิธภัณฑ์จัดแสดงภาพลวงตา กล่าวว่า การช่างสังเกตและดำเนินการอย่างเฉียบขาดของนางกิลล์นั้นน่าประทับใจมาก ทางพิพิธภัณฑ์หวังว่านางกิลล์จะหายป่วยในเร็ววัน และหวังจะได้พบนางกิลล์และครอบครัวอีกในอนาคต

อย่างไรก็ดี แพทย์หญิงเทรซีย์ กิลลีส์ ผู้อำนวยการสำนักบริการสุขภาพแห่งชาติ เมืองโลเทียน ของสก็อตแลนด์ ระบุว่า ทางการแพทย์นั้นจะใช้เครื่องเอกซเรย์เต้านมระบบดิจิตอลในการตรวจหามะเร็งเต้านม โดยในอดีตกล้องจับความร้อนเคยถูกนำมาทดลองใช้ แต่พบว่ามีความถูกต้องต่ำ

ทว่า นางแคโรลีน รูบิน รองประธานคลินิกรังสี ราชวิทยาลัยนักรังสีวิทยาแห่งสหราชอาณาจักร ระบุว่า ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้ถึงวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการตรวจมะเร็งเต้านม

“หลักการของการตรวจวัดด้วยความร้อน คือ การใช้แสงอินฟราเรดเพื่อตรวจจับรูปแบบของความร้อนจากการไหลเวียนของเลือดใกล้ชั้นผิวหนังด้านนอก” และว่ามะเร็งนั้นมักมีความร้อน เพราะมีเลือดไปเลี้ยงจำนวนมาก แต่ทั้งนี้ขึ้นกับขนาด และตำแหน่งด้วย

นางรูบิน ระบุว่า การตรวจวัดด้วยความร้อนนั้นไม่มีความจำเพาะและความไวเพียงพอที่น่าเชื่อถือได้ต่อการตรวจหามะเร็งเต้านม โดยกรณีของนางกิลล์นั้นถือว่าบังเอิญมากกว่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน