ไทยกับต่างประเทศ ปีเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย : ต่างประเทศ

ไทยกับต่างประเทศ – การเลือกตั้งเมื่อ 24 มี.ค. 2562 ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย ส่งผลต่อสถานะ บทบาทของไทยในมิติด้านการต่างประเทศ นานาชาติเริ่มกลับมาฟื้นความสัมพันธ์กับไทย

ไทยกับต่างประเทศ ปีเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย : ต่างประเทศ

นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า หลังการเลือกตั้งจะเห็นได้ว่า บทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ นายกรัฐมนตรีเดินทางไปเยือนต่างประเทศ และรวมถึงการที่มีแขกมาเยือนประเทศไทยทำให้เห็นได้ว่าการดำเนินการในเรื่องของการติดต่อต่างๆ เป็นไปด้วยดี อาทิ นายหลี่ ซี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลกวางตุ้งของจีนเยือนไทยเมื่อเดือนมิ.ย. รวมถึงระดับผู้นำไม่ว่าจะเป็น ประธานาธิบดีมุน แจอิน ผู้นำเกาหลีใต้เยือนไทยช่วงต้นเดือน ก.ย.

การที่ไทยได้ต้อนรับผู้นำในการประชุมอาเซียนเมื่อต้นเดือน พ.ย. นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนมาเยือนอย่างเป็นทางการเมื่อ 5 พ.ย. สะท้อนให้เห็นได้ว่ามีการติดต่อสัมพันธ์ที่ต่อเนื่อง

สิ่งที่มีนัยสำคัญอีกประการหนึ่ง คือการที่สหภาพยุโรปหรืออียูมีข้อมติเมื่อ 14 ตุลาคม 2562 ที่จะรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับไทยในทุกมิติ ซึ่งหมายรวมถึงการเจรจาการค้าเสรีไทย – อียูด้วย แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลไทยในการดำเนินการที่จะนำไปสู่การเพิ่มพูนความสัมพันธ์ การสร้างพลวัตระหว่างไทยกับมิตรประเทศ

นางสาวบุษฎีมองว่า ตัวชี้วัดฐานะของไทยยังคงต่อเนื่องเห็นได้จากการจัดลำดับไทยในด้านการท่องเที่ยว ศักยภาพในการทำธุรกิจ ด้านสาธารณสุข ชี้ให้เห็นว่ามีความเชื่อมั่นต่อไทย ยกตัวอย่าง ไทยได้รับการยอมรับว่ามีระบบการประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ดีที่สุดอันดับที่ 6 ของโลก

ไทยกับต่างประเทศ ปีเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย : ต่างประเทศ

สหภาพยุโรปแถลงยกระดับความสัมพันธ์เพื่อเปิดเจรจา FTA

บทบาทกระทรวงการต่างประเทศที่รัฐบาลมอบหมายในด้านเศรษฐกิจมีอะไรบ้าง กระทรวงต้องทำการบ้านเกี่ยวกับเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง

นางสาวบุษฎีระบุว่า การทูตด้านเศรษฐกิจ เป็นนโยบายที่กระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงเป็นหน่วยงานที่ช่วยประสานผลประโยชน์ของไทย เช่น การเตรียมการเยือนของนายกรัฐมนตรีในต่างประเทศ การรับแขกบ้านแขกเมืองที่มาเยือน จะมีประเด็นเศรษฐกิจเกี่ยวข้อง และสถานทูต สถานกงสุลใหญ่ทั่วโลก โดยเฉพาะเอกอัครราชทูต ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมประเทศไทยสามารถที่จะผลักดัน ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและส่งเสริม ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนในประเทศที่ไปประจำการ

ไทยกับต่างประเทศ ปีเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย : ต่างประเทศ

นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์

ในภาพใหญ่ การแสวงหาลู่ทางส่งเสริมพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน เพิ่มขีดความสามารถของไทย โดยการแสวงหาแหล่ง ความรู้ ประสบการณ์ของต่างประเทศในภูมิภาคต่างๆ ว่ามีจุดแข็งอะไรบ้างที่จะ เชื่อมโยงกับศักยภาพของไทยที่จะเน้นโดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม นอกจากนั้นแล้วอีกลู่ทางหนึ่งที่เราส่งเสริมได้คือการส่งเสริมให้รู้จักประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้นในกรอบของเทศกาลไทย ซึ่งจะมีผลไม่เพียงแค่เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์แต่ยังครอบคลุมมิติต่างๆ เช่น อาหาร ท่องเที่ยว ซึ่งสามารถต่อยอดในเชิงติดต่อค้าขาย เป็นสถานที่ โอกาสการนำแสดงสินค้า โอท็อปด้วยการนำรายได้มาสู่เศรษฐกิจฐานรากได้ด้วย

การให้ข้อมูลข่าวสารทั้งในลักษณะ อินไซด์เอาต์และเอาต์ไซด์อิน ผ่านทางเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก การติดต่อโดยตรงจากทั้งสถานทูต สำนักงานการค้าต่างประเทศในไทยมีศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยประจำสถานทูต สถานกงสุลทั่วโลก 24 แห่งในทุกภูมิภาค รายงานความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจของประเทศที่ไปประจำการแก่ผู้ประกอบการไทยให้ได้รับทราบข้อมูลเชิงลึก ยกตัวอย่างเว็บไซต์ https://globthailand.com/

นางสาวบุษฎีกล่าวว่า หลังเลือกตั้ง การทูตด้านเศรษฐกิจถือเป็นการดำเนินการต่อเนื่อง แต่ในบริบทที่เศรษฐกิจโลกประสบภาวะถดถอย ส่งผลให้ทุกประเทศมีช่องทาง ทางเศรษฐกิจจำกัดลง ทรัพยากรจำกัดลง ดังนั้นกระทรวงการต่างประเทศที่มีผู้แทนในต่างประเทศต้องแสวงหาตลาดใหม่ๆ เพิ่มพูนโอกาส ศักยภาพ หาข้อมูลเชิงลึกมากยิ่งขึ้นที่จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมโอกาสของไทย ชักจูงให้ต่างชาติลงทุน อาทิ โครงการ อีอีซี

สำหรับบทบาทความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศ อาจจะดูว่าเป็นเพียงการเข้าร่วมประชุม แต่จริงๆแล้วทำให้เห็นว่านานาประเทศที่เป็นผู้แทนภาครัฐก็จะได้รับทราบนโยบาย มาตรการต่างๆของรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่องว่าเป็นไปในทิศทางใดบ้าง เช่น ความคืบหน้านโยบายอีอีซี ไทยแลนด์ 4.0 เป็นต้น

นานาชาติยังมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับประชาธิปไตยไทยอยู่อีกหรือไม่ จากการที่ฝ่ายค้านวิจารณ์ว่าผลการเลือกตั้งถูกวางแผนมาล่วงหน้าหรือมีการจัดตั้งมาแล้ว สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2560

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ในการพบปะหารือของผู้นำ รัฐมนตรีการต่างประเทศ ไม่มีใครหยิบยกเรื่องนี้เลย หรือไม่ว่าการประชุมในอาเซียน ไม่มีใครติดใจถาม

ไทยกับต่างประเทศ ปีเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย : ต่างประเทศ

“ส่วนใหญ่แสดงความยินดีที่รัฐบาลดำเนินการจัดการเลือกตั้งให้เสร็จสมบูรณ์ มีการเดินหน้าหลังการเลือกตั้ง นานาชาติมองว่าเราจะสานต่อนโยบายต่างๆอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ด้านการ ส่งเสริมความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ส่วนประเด็นต่างๆ เราตอบได้ เราไม่ได้มองข้าม หรือละเลยการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมประชาธิปไตย การดูแลปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เราจะเล่าให้ฟังว่ารัฐบาลมีการเดินหน้าอย่างไรบ้าง คิดว่านานาชาติเห็นว่าเราดำเนินการตามกลไกรัฐสภา อย่างมีการอภิปรายในประเด็นงบประมาณ” โฆษกกระทรวงการ ต่างประเทศกล่าว

ด้าน ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช นักวิชาการ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า หลังเลือกตั้งไทยแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านระบอบการเมืองจากเผด็จการเข้าสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และสื่อตะวันตก มักแสดงท่าทียินดีต่อการเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตยในไทยจนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับชาติตะวันตกมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับสมัยคสช.

ไทยกับต่างประเทศ ปีเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย : ต่างประเทศ

ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช

หากแต่กลุ่มตะวันตกก็ยังมีข้อกังขา โดยเฉพาะเรื่องบทบาททหารในทางการเมืองและความไม่สงบในช่วงเปลี่ยนผ่านที่เกิดจากความขัดแย้งของกลุ่มขั้วอำนาจต่างๆ

ส่วนจีนหรือกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งไม่แทรกแซงกิจการภายในและไม่ได้เอาเรื่องประชาธิปไตยมาเป็นเงื่อนไขกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็กลับไม่พบเห็นความแตกต่างแบบเด่นชัดในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศเหล่านี้ทั้งในช่วงคสช. และหลัง คสช.

รัฐเหล่านี้มักเน้นไปที่การแสดงความยินดีกับคุณประยุทธ์ที่ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มากกว่าจะวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการเมืองลูกผสมของไทยที่ยังมีการผสมผสานระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตยอยู่

ปัจจุบันไทยมีรัฐบาลผสมแบบหลายพรรคใต้ระบอบการเมืองลูกผสมในช่วงเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย ลักษณะแบบนี้ชี้ให้เห็นทั้งความก้าวหน้าและความท้าทาย

ดังนั้นความเสี่ยงทั้งในแง่การหมุนกลับสู่เผด็จการ และการใช้ความรุนแรงเข้าประหัตประหารทางการเมือง ย่อมเกิดขึ้นได้ จึงทำให้นานาชาติยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์การเมืองไทยอย่างใกล้ชิด

สุจิตรา ธนะเศวตร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน