งานวิจัยไวรัสอู่ฮั่น อีกชิ้นชี้ “ตัวนิ่ม” เป็น “สัตว์ตัวกลาง” มีความเป็นไปได้สูงสุด

งานวิจัยไวรัสอู่ฮั่น – เมื่อ 7 ก.พ. ซินหัว รายงาน งานวิจัยไวรัสอู่ฮั่น อีกฉบับหนึ่ง พบว่า ลำดับจีโนมหรือข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ใน “ตัวนิ่ม” นั้น คล้ายคลึงกับไวรัสที่ติดในมนุษย์ถึงร้อยละ 99 อันเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าตัวนิ่มอาจเป็นโฮสต์ตัวกลาง (intermediate host) ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้

ทั้งนี้ โฮสต์ตัวกลาง คือสิ่งมีชีวิตเจ้าบ้านที่ยอมให้ตัวอ่อนของปรสิตหรือปรสิตระยะที่มีการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศเข้ามาอาศัย

งานวิจัยฉบับนี้จัดทำโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หัวหนาน (South China Agricultural University) นครกว่างโจว มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) โดย หลิว หย่าหง อธิการบดีมหาวิทยาลัยฯ เปิดเผยว่าคณะนักวิจัยวิเคราะห์ตัวอย่างเมตาจีโนม (metagenome) ของสัตว์ป่าหลายชนิดมากกว่า 1,000 ตัวอย่าง ก่อนพบว่าตัวนิ่ม เป็นโฮสต์ตัวกลางที่มีความเป็นไปได้สูงสุด

งานวิจัยไวรัสอู่ฮั่น

Xinhua

การศึกษาแบบเมตาจีโนมิกส์ที่นักวิจัยใช้นั้นเป็นวิธีศึกษาจีโนมของจุลินทรีย์ทั้งหมดที่มีในตัวอย่างธรรมชาติด้วยการสกัดดีเอ็นเอ (DNA) จากตัวอย่างที่ต้องการศึกษาโดยตรงโดยไม่ต้องเพาะเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์

การตรวจสอบทางอณูชีววิทยา (Molecular biological detection) หรือการศึกษาระดับโมเลกุลในการวิจัยครั้งนี้ เปิดเผยว่าอัตราบวก (Positive rate) ของไวรัสโคโรนากลุ่มเบตา หรือ เบตาโคโรนาไวรัส (Betacoronavirus) ในตัวนิ่มนั้นอยู่ที่ร้อยละ 70 ต่อจากนั้นนักวิจัยแยกไวรัสออกมา และศึกษาโครงสร้างด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนซึ่งเป็นกล้องกำลังขยายสูง ก่อนพบว่าลำดับจีโนมของไวรัสดังกล่าวคล้ายคลึงกับไวรัสที่ติดในมนุษย์ถึงร้อยละ 99

งานวิจัยไวรัสอู่ฮั่น

 

ทั้งนี้ เบตาโคโรนาไวรัส คือไวรัสโคโรนากลุ่มที่ก่อโรครุนแรงในมนุษย์ ซึ่งข้ามสายพันธุ์มาจากสัตว์ อาทิ ไวรัสโคโรนาโรคซาร์ส (SARS-CoV) ไวรัสโคโรนาโรคเมอร์ส (MERS-CoV) และไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV)

หลิวระบุว่าผลการวิจัยจึงชี้ว่าตัวนิ่มเป็นโฮสต์ตัวกลางที่เป็นไปได้ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ พร้อมเสริมว่างานวิจัยฉบับนี้จะช่วยสนับสนุนการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสฯ ตลอดจนเป็นแหล่งอ้างอิงเชิงวิทยาศาสตร์สำหรับนโยบายเกี่ยวกับสัตว์ป่าได้ด้วย

GETTY IMAGES ก่อนการค้นพบไวรัส 2019nCoV มีไวรัสโคโรนาที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในมนุษย์อยู่แล้ว 6 สายพันธุ์

เสิ่นหย่งอี้ ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย และสมาชิกคณะนักวิจัย ระบุว่างานวิจัยก่อนหน้านี้ชี้ว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีต้นกำเนิดจากค้างคาว แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดครั้งนี้เกิดขึ้นในฤดูหนาว มนุษย์จึงไม่น่าติดเชื้อจากค้างคาวโดยตรงได้ เพราะค้างคาวยังอยู่ในช่วงจำศีล

“ดังนั้นภารกิจของเราคือการตามหาโฮสต์ตัวกลางที่ ‘เชื่อม’ ระหว่างค้างคาวกับมนุษย์” เสิ่นอธิบาย พร้อมระบุว่าตามปกติสิ่งมีชีวิตที่เป็นโฮสต์ตัวกลางของปรสิตจะมีหลายตัว และตัวนิ่มอาจเป็นแค่เพียงหนึ่งในนั้น

ค้างคาว-ไวรัสโคโรนา

“ในทางหนึ่งเราก็หวังว่าผลการวิจัยนี้จะเป็นสิ่งย้ำเตือนให้มนุษย์อยู่ห่างจากสัตว์ป่า และในอีกทางหนึ่งเราก็อาจจะแบ่งปันผลการวิจัยนี้แก่บรรดานักวิจัย จะได้ใช้โอกาสนี้ร่วมกันศึกษาหาโฮสต์ตัวกลางที่เป็นไปได้อื่นๆ เพื่อเสริมแนวทางป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดต่อไป” เสิ่นทิ้งท้าย

รายงานผู้ป่วยรายแรกๆ ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ปรากฏเมื่อเดือนธันวาคม 2019 ผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีประวัติเกี่ยวข้องกับตลาดอาหารทะเลหัวหนาน (Huanan seafood market) ในนครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน โดยตลาดแห่งนี้ถูกสั่งปิดไปตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563

ตลาดหัวหนาน ต้นตอที่พบเชื้อระบาดสู่คน REUTERS/Stringer CHINA OUT

เฝิงเย่าอวี่ ศาสตราจารย์อีกคนหนึ่งที่ร่วมงานวิจัยในครั้งนี้ ระบุว่าเนื่องจากตลาดหัวหนานผ่านการฆ่าเชื้อเป็นที่เรียบร้อยหลังไวรัสฯ แพร่ระบาด ตัวอย่างที่นำมาใช้ในการศึกษานี้จึงไม่ได้เก็บมาจากตลาดดังกล่าว แต่มาจากลำดับเมตาจีโนมที่มีอยู่แล้วของสัตว์ป่าต่างๆ ซึ่งจัดเก็บไว้ทางออนไลน์หรือฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

“หลังเสร็จสิ้นการวิเคราะห์ตัวอย่าง เราสงสัยกันว่าตัวนิ่มอาจเป็นโฮสต์ตัวกลางของไวรัสโคโรนา … จึงทำการเปรียบเทียบลำดับเมตาจีโนมของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากตัวนิ่มที่มีชีวิตกับไวรัสตัวเดียวกันในมนุษย์ เพื่อพิสูจน์สมมติฐานของเรา” เฝิงกล่าว

งานวิจัยไวรัสอู่ฮั่น

“อย่างไรก็ดี เนื่องจากเราไม่ได้วิเคราะห์ตัวอย่างสัตว์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดครั้งนี้ เราจึงไม่อาจยืนยันได้ว่าตัวนิ่มเป็นสัตว์ที่แพร่ไวรัสฯ สู่มนุษย์” เฝิงกล่าว พร้อมเสริมว่าคณะวิจัยจะเดินหน้าศึกษาเพิ่มเติมว่าไวรัสฯ แพร่มาสู่มนุษย์จากโฮสต์ตัวกลางตัวนี้ได้อย่างไร

คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (NHC) ยืนยันจำนวนผู้ป่วยที่ติดไวรัสฯ ในจีนแผ่นดินใหญ่รวม 31,161 ราย และมีผู้เสียชีวิต 636 ราย เมื่อนับถึงสิ้นวันพฤหัสบดีที่ 6 ก.พ.

+++++

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

โคโรนา : วิจัยล่าสุดชี้ “สัตว์ตัวกลาง” นำไวรัสสายพันธุ์ใหม่จากค้างคาวมาสู่มนุษย์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน