พบซากไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ เป็นญาติกันกับไทแรนโนซอรัสเร็กซ์

พบซากไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ – วันที่ 11 ก.พ. ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ในสกุล (จีนัส) ไทแรนโนซอรัส หลังการค้นพบซากฟอสซิลขากรรไกรที่เมืองอัลเบอร์ตา รัฐเวสต์เทิร์น แคนาดา ประเทศแคนาดา โดยนายจอห์น เดอ กรูต เกษตรกรและผู้ศึกษาค้นคว้าสิ่งมีชีวิตยุคดึกดำบรรพ์

(Image: © Julius Csotonyi)

การค้นพบดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี ที่มีการค้นพบชิ้นส่วนโครงกระดูกของไดโนเสาร์ในสกุลดังกล่าวในทวีปอเมริกาเหนือ โดยการศึกษายังพบว่าเป็นสายพันธุ์ (สปีชีส์) ใหม่ในสกุล ไทแรนโนซอรัส และหนึ่งในสายพันธุ์ที่มีความเก่าแก่มากที่สุดด้วย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Thanatotheristes degrootorum

มันน่าจะมีชีวิตอยู่เมื่อราว 79.5 ล้านปีก่อน และมีความใกล้เคียงทางสายเลือดกับ ไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ หรือ ทีเร็กซ์ ราชาไดโนเสาร์นักล่าที่เป็นที่รู้กจักกันดีปัจจุบัน โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่า Thanatotheristes degrootorum เป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในอเมริกาเหนือก่อนการปรากฎตัวของ ไทแรนโนซอรัส เร็กซ์

พบซากไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่

ข้อมูลการศึกษาบ่งชี้ว่า Thanatotheristes degrootorum มีขนาดโตเต็มที่ยาวประมาณ 9 เมตร และหนักกว่า 2 ตัน เล็กกว่า ไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ เล็กน้อย ที่มีขนาดโตเต็มวัยยาวกว่า 12 เมตร ส่วนการตั้งชื่อนั้นมาจาก ธานาทอส เทพเจ้าแห่งความตายตามตำนานชาวกรีก ผสมกับเธร์ซีตีส แปลว่า ผู้เก็บเกี่ยว และท้ายที่สุดเป็นชื่อของผู้ค้นพบ คือ เดอ กรูต ที่ค้นพบซากของมันโดยบังเอิญระหว่างไต่เขาย่านเฮย์ส เมืองอัลเบอตา

นายเดอ กรูต กล่าวว่า ซากขากรรไกรที่พบเป็นสิ่งที่น่าทึ่งอย่างที่สุด ตนทราบทันทีว่าต้องมีความพิเศษ เพราะสภาพฟันบนขากรรไกรนั้นเยี่ยมมาก ขณะที่ ครีเตเชียส รีเสิร์ช วารสารทางด้านบรรพชีวินวิทยา ระบุว่า ลักษณะของฟันบนซากขากรรไกรที่พบนั้นช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญยืนยันได้ว่า เป็นซากโครงกระดูกของไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ในสกุล ไทแรนโนซอรัส

พบซากไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่

ด้านนายจาเร็ด วอริส นักศึกษาปริญญาเอก ผู้นำคณะนักวิจัยบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยคาลการี เมืองอัลเบอร์ตา กล่าวว่า Thanatotheristes degrootorum มีลักษณะของกะโหลกที่แตกต่างไปจากสายพันธุ์อื่นในสกุล ไทแรนโนซอรัส แต่เอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุด คือ ลายทางบนขากรรไกรด้านบนของมัน

รายงานระบุว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการค้นพบซากโครงกระดูกไดโนเสาร์อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะบริเวณเมืองอัลเบอร์ตา ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์จัดแสดงด้านบรรพชีวินวิทยา โรยัล ไทร์แรล มิวเซียม ซึ่งจะใช้เป็นที่จัดแสดงฟอสซิลของ Thanatotheristes degrootorum ต่อไป

นอกจากนี้ การค้นพบดังกล่าวยังช่วยให้นักบรรพชีวินวิทยาสามารถทราบได้แน่ชัดว่าทวีปอเมริกาเหนือนั้นเคยมีไดโนเสาร์หลายสายพันธุ์ในสกุล ไทแรนโนซอรัส ตอนยุคปลายครีเตเชียส เมื่อราว 74-80 ล้านปีก่อน โดยดร.ฟรังซัวร์ เธอร์เรียน ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว ระบุว่า เป็นการค้นพบที่สำคัญมาก เพราะเป็นการเติมช่องโหว่ทางด้านวิวัฒนาการที่ขาดหายไปของไดโนเสาร์สกุลไทแรนโนซอรัส

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน