พลิกปูมลัทธิชินชอนจี ต้นตอโควิด-19 ระบาดอย่างไรในเกาหลีใต้

พลิกปูมลัทธิชินชอนจี ต้นตอโควิด-19 – วันที่ 27 ก.พ. ซีเอ็นเอ็นรายงานเบื้องหลังลัทธิชินชอนจี หนึ่งในนิกายความเชื่อของคริสตศาสนิกชน ที่ถูกพบว่าเป็นต้นตอการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 จนเกาหลีใต้กลายเป็นแหล่งระบาดนอกจีนที่รุนแรงที่สุดในโลกขณะนี้

นายเดียน คิม อดีตสมาชิกของลัทธิดังกล่าว เล่าว่า พิธีกรรมเข้าโบสถ์วันอาทิตย์นั้นถือเป็นพิธีกรรมของลัทธิที่มีความสำคัญยิ่งยวด และการเจ็บป่วยนั้นไม่ใช่เหตุผลที่ยอมรับได้ในการไม่เข้าร่วม หากอาการร้ายแรงจนมาร่วมไม่ได้จริงๆ ก็ต้องมาชดเชยในวันถัดไป

อดีตสมาชิกลัทธินี้ ระบุว่า ทุกคนจะได้รับการเช็คชื่อผ่านบัตรประจำตัว และติดตามตลอดว่าได้เข้าร่วมพิธีดังกล่าวที่มีขึ้นทุกวันอาทิตย์หรือไม่ โดยระหว่างพิธีทุกคนต้องนั่งอยู่กับพื้นอย่างเบียดเสียดกันในโบสถ์ แออัดราวกับเป็นปลากระป๋อง

รายงานระบุว่า หนึ่งในสมาชิกของลัทธิดังกล่าวเป็นต้นตอที่ทำให้เกิดการระบาดโดยเฉพาะในเมืองแทกู ซึ่งกำลังเป็นศูนย์กลางการระบาด หรือกราวน์ ซีโร่ ของเกาหลีใต้ ซึ่งทางลัทธิได้ให้ความร่วมมือกับทางการ และงดพิธีกรรมทั้งหมดอย่างไม่มีกำหนด

แถลงการณ์ของลัทธิชินชอนจี ระบุว่า กำลังอยู่ระหว่างการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในศาสนสถานทั้งหมดทั่วประเทศ โดยทางกลุ่มจะปฏิบัติตามมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดตามที่รัฐบาลเกาหลีใต้กำหนดมาอย่างเคร่งครัด ไม่มีข้อละเว้นใดๆ ทั้งสิ้น

พลิกปูมลัทธิชินชอนจี ต้นตอโควิด-19

อย่างไรก็ดี แถลงการณ์ของลัทธิดังกล่าว ตอบโต้คำวิพากษ์วิจารณ์ ว่าบรรดาสื่อมวลชนต่างรายงานว่าขั้นตอนการปฏิบัติศาสนกิจที่ “แตกต่างจากปกติ” เป็นต้นเหตุทำให้เกิดการระบาดของเชื้อไวรัส แต่เหตุผลจริงๆ แล้ว การที่สาวกต้องนั่งกับพื้นก็เพียงเพื่อให้โบสถ์รองรับจำนวนสาวกที่มากขึ้นได้พอ

แต่นายคิม กล่าวโต้แย้งผ่านสื่อว่า สาวกไม่ได้รับอนุญาตให้สวมใส่ของทุกประเภทบนใบหน้า ห้ามแม้กระทั่งแว่นสายตา รวมถึงหน้ากากอนามัยด้วย ระหว่างพิธีสวดมนตร์

“พวกเราเคยถูกบังคับไม่ให้สวมใส่หน้ากากอนามัยขณะมาเข้าร่วมพิธี ทั้งๆ ที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 พวกเค้าบอกเราว่า การปิดบังใบหน้าต่อพระผู้เป็นเจ้านั้นเป็นบาป” คิม ระบุ

คิม เล่าว่า ตนเดินทางจากประเทศแอฟริกาใต้มาเรียนต่อที่เกาหลีใต้ตั้งแต่ปี 2552 โดยตนไม่มีเพื่อนและเพื่อนแม้แต่คนเดียว จึงถูกชักชวนให้เข้าร่วมลัทธิดังกล่าวอย่างรวดเร็ว โดยเพื่อนผู้ที่พาไปไม่ได้เปิดเผยว่าเป็นสมาชิกลัทธิดังกล่าว

18เดือนต่อมา จึงพาตนไปร่วมกับชมรมศึกษาพระคัมภีร์ไบเบิ้ล โดยผู้คนเหล่านี้กลายเป็นกลุ่มเพื่อน และสังคมขนาดใหญ่ที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เป็นกลุ่มคนที่ตนพึ่งพาได้ และเป็นเพื่อนไปไหนมาไหนด้วยกัน

คิม เล่าต่อว่า ทักษะการพูดภาษาอังกฤษที่คล่องแคล่วของตนทำให้คิมได้รับคำชื่นชมและได้รับตำแหน่งระดับสูงของลัทธิเป็นผู้อำนวยการกิจการต่างประเทศในปี 2554 และล่ามให้กับนายอี แมนฮี ผู้ก่อตั้งลัทธิ โดยแม่เลี้ยงของตนเป็นหนึ่งในคู่ขาของนายอีด้วย

พลิกปูมลัทธิชินชอนจี ต้นตอโควิด-19

แต่หลังจากใช้ชีวิตใกล้ชิดกับนายอีแทบทุกวัน ซึ่งเป็นประมุขที่เหล่าสาวกนั้นเทิดทูนบูชาราวกับเป็นพระผู้เป็นเจ้า นายคิม จึงรับรู้ถึงความผิดปกติและถอนตัวออกจากลัทธิดังกล่าวเมื่อปี 2560

โบสถ์พระผู้เป็นเจ้าแห่งชินชอนจี ซึ่งเป็นศาสนสถานหัวใจหลักของทางลัทธิถูกก่อตั้งโดยนายอี ตั้งแต่ 14 มี.ค. 2527 แต่ประวัติของนายอีนั้นแทบไม่มีหลงเหลืออยู่ ทราบเพียงว่า นายอี เกิดเมื่อ 15 ก.ย. 2474 ที่เมืองชองดู ภาคใต้ของประเทศ

นายอีเป็นผู้ที่เลื่อมใสอย่างยิ่งต่อคริสตศาสนาตั้งแต่ยังเด็ก และมักสวดภาวนากับคุณตาเป็นประจำ แต่ไม่เคยมีโอกาสได้เดินทางไปเข้าโบสถ์วันอาทิตย์ โดยเว็บไซต์ของลัทธิพยายามชี้ว่า นายอี เป็นผู้อภิบาลคนใหม่ตามที่พระคัมภีร์ระบุไว้ ซึ่งหมายถึง การกลับมาอีกครั้งของพระเยซูเจ้า

พลิกปูมลัทธิชินชอนจี ต้นตอโควิด-19

ทางเว็บไซต์อ้างว่า ลัทธิชินชอนจีมีสมาชิกในเกาหลีใต้กว่า 245,000 คน และต่างประเทศอีกกว่า 31,000 คน โดยเอกสารของลัทธิ ชื่อว่า “รายงานสถานะภารกิจฝ่ายต่างประเทศ” ที่อดีตสมาชิกมอบให้ซีเอ็นเอ็น พบว่า มีสาขา 8 แห่งในสหรัฐอเมริกา ใหญ่ที่สุดเป็นสาขานครลอสแองเจลิส หรือแอลเอ

นอกจากนี้ ยังมีสาขาอีกหลายสิบแห่งในประเทศจีน โดยนายคิม ระบุว่า บรรดาสาวกของลัทธิเชื่อเอาจริงๆ ว่านายอีนั้นเป็นบุคคลในคัมภีร์ที่ระบุถึงการกลับมาอีกครั้งของพระเยซูเจ้า อย่างไรก็ตาม ความพยายามติดต่อของซีเอ็นเอ็นต่อนายอีนั้นล้มเหลว เนื่องจากไม่ได้รับการติดต่อกลับ

ด้านศาสตรจารย์ทาร์ก จีอิล จากมหาวิทยาลัยปูซาน ระบุว่า โบสถ์หลายแห่งทั่วเกาหลีใต้อาจมีป้ายติดไว้ว่าไม่ต้อนรับสมาชิกลัทธิชินชอนจี เนื่องจากสมาชิกของลัทธิเหล่านี้แฝงตัวเข้ามาเพื่อชักชวนคริสตศาสนิกชนไปเข้าร่วม

พลิกปูมลัทธิชินชอนจี ต้นตอโควิด-19

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศจีนช่วงกลางเดือนม.ค. นั้นไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆ ต่อลัทธิดังกล่าว และบรรดาสาวกจำนวนมากเดินทางมารวมตัวกันในพิธีชุมนุมสวดมนตร์ใหญ่ประจำปีที่เมืองกวาชอน ใกล้กรุงโซล ซึ่งที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ลัทธิฯ

ต่อมาระหว่าง 31 ม.ค. ถึง 2 ก.พ. ก็มีสาวกเดินทางมาชุมนุมอีกจำนวนมาก ในพิธีศพของพี่ชายนายอี โดยก่อนหน้านั้นผู้เสียชีวิตเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลชองดู แดนัม ใกล้เมืองแทกู ต่อมาจึงเริ่มมีรายงานการพบผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตออกมาจากรพ.ดังกล่าว

แต่ลัทธิชินชอนจีไม่ได้ปรากฎความเชื่อมโยงต่อการระบาดกระทั่งทางการเกาหลีใต้พบผู้ติดเชื้อรายที่ 31 ของประเทศ เมื่อ 18 ก.พ. เป็นหญิงเกาหลีใต้อายุ 61 ปี ซึ่งไม่เคยมีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อทั้งหมดก่อนหน้า

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจำนวนผู้ติดเชื้อในเกาหลีใต้จึงพุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ 20 ก.พ. จาก 31 กลายเป็น 156 คน และมีผู้เสียชีวิตรายแรกของประเทศ โดยผลการตรวจสอบของสำนักงานควบคุมโรคระบาด (KCDC) พบว่า หญิงผู้นี้เคยเข้าร่วมการพิธีกรรมของลัทธิชินชอนจีที่เมืองแทกู

โดยเมืองแทกูนั้นตั้งอยู่ห่างจากกรุงโซลไปทางใต้ราว 280 กิโลเมตร เป็นมหานครใหญ่อันดับสี่ของประเทศ และมีประชากรถึง 2.4 ล้านคน ส่งผลให้ทางการเกาหลีใต้มีคำสั่งให้ควบคุมและกักตัวบรรดาสาวกของลัทธิดังกล่าวทั้งหมดที่เข้าร่วมพิธีกับหญิงคนนี้

นายไซมอน คิม โฆษก KCDC กล่าวว่า “โรคระบาดนี้เกิดขึ้นในจีนและแพร่มาสู่เกาหลีใต้ โดยขอเรียกร้องให้ทุกคนเห็นใจบรรดาสาวกลัทธิชินชอนจีที่ถือเป็นเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดมากที่สุด และหลีกเลี่ยงการสร้างความเกลียดชังและการทำร้ายบุคคลเหล่านี้อย่างไร้เหตุผล”

ทางการเกาหลีใต้มีคำสั่งให้ศาสนสถานทุกแห่งของลัทธินี้ปิดลงชั่วคราว โดยทางลัทธิชินชอนจี ระบุว่า มีอาคารกว่า 1,100 แห่งถูกปิด และกำลังอยู่ระหว่างทำควาสะอาดฆ่าเชื้อ

กระทั่งเมื่อ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา นายอี แจเมียง นายกเทศมนตรีเมืองกยองกี เปิดเผยผ่านสถานีวิทยุ TBS ของเกาหลีใต้ ว่าทางลัทธิไม่ยินยอมให้ความร่วมมือกับทางการเกาหลีใต้ในช่วงแรก สะท้อนจากการมอบที่อยู่ของอาคารชุมนุม 239 แห่งให้ทางการ แต่พบว่าเป็นของจริงเพียง 100 แห่งเท่านั้น

ต่อมาในวันที่ 26 ก.พ. นายอี ผู้ก่อตั้งลัทธิ เผยแพร่แถลงการณ์ผ่านทางเว็บไซต์ ว่าทางกลุ่มนั้นให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเกาหลีใต้อย่างเต็มที่เพื่อสกัดกั้นการแพร่กระจายของไวรัสข้างต้น พร้อมมอบรายชื่อสมาชิกของลัทธิทั้งหมดให้ทางการเพื่อตรวจหาผู้ติดเชื้อ

นายกเทศมนตรีเมืองกยองกี เปิดเผยด้วยว่า การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่นั้นมีอุปสรรค เพราะสมาชิกของลัทธิมักไม่รับสายหากเป็นเบอร์โทรของบุคคลภายนอก ส่งผลให้มีสาวกประมาณ 210 คน อาสาช่วยกันโทรศัพท์ไปสอบถามสุขภาพของสมาชิกอีกกว่า 33,000 คน

ขณะที่สำนักงานตำรวจเมืองแทกู ระดมกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 600 นาย เพื่อออกตามหาสมาชิกลัทธิดังกล่าวที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็นการโทรศัพท์หา ตรวจสอบกล้องวงจรปิด รวไมปถึงการออกเดินทางไปเคาะประตูบ้านที่ละหลัง เพื่อขอร้องให้กักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน

สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความไม่พอใจของชาวเกาหลีใต้กว่า 5 แสนคน ที่ร่วมกันลงชื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลสั่งยุบลัทธิชินชอนจี ซึ่งตามกฎหมายเกาหลีใต้กำหนดให้รัฐบาลต้องดำเนินการตอบสนองหากหนังสือเรียกร้องมีผู้เข้าชื่อมากกว่า 2 แสนคนขึ้นไป

ส่งผลให้ลัทธิชินชอนจีตกเป็นเป้าหมายของการถูกวิพากษ์วิจารณ์ และการรายงานของสื่อมวลชนทั่วโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางลัทธิพยายามหลีกเลี่ยงมากที่สุดตลอดเวลาที่ผ่านมา…

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน