งานวิจัยใหม่ชี้ – วันที่ 10 มี.ค. เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ รายงานการศึกษาจากคณะนักระบาดวิทยาของรัฐบาลจีนว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่ก่อโรคโควิด-19 สามารถอยู่ในอากาศอย่างน้อย 30 นาที และแพร่ได้ไกลถึง 4.5 เมตร

มากกว่าระยะปลอดภัย 1-2 เมตร ตามที่หน่วยงานสาธารณสุขทั่วโลกแนะนำ จากเดิมที่เชื่อว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ทางอากาศจะมีข้อจำกัด เนื่องจากละอองขนาดเล็กจากผู้ป่วยจะตกสู่พื้นอย่างรวดเร็ว

คณะนักวิจัยจากมณฑลหูหนาน ตอนกลางของจีน ค้นพบว่า ไวรัสโคโรนาสามารถอยู่ได้หลายวันบนพื้นผิวที่มีละอองจากทางเดินหายใจ (respiratory droplets) ตกลงไป เพิ่มความเสี่ยงการระบาดหากคนไม่ระวังเอามือไปแตะแล้วมาสัมผัสใบหน้า

ส่วนระยะเวลาที่ไวรัสจะอยู่บนพื้นผิว ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อุณหภูมิ และประเภทของพื้นผิว ตัวอย่าง ในอุณหภูมิราว 37 องศาเซลเซียส ไวรัสจะอยู่ได้ 2-3 วัน บนพื้นผิวที่เป็นแก้ว ผ้า โลหะ พลาสติก หรือกระดาษ

สีแดง ผู้เป็นพาหะโรคโควิด-19, สีส้ม ผู้ติดเชื้อจากสีแดง, สีม่วง ผู้ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ, สีชมพู ผู้ติดเชื้อ 30 นาที หลังสีแดงลงจากรถบัส และสีเทา ผู้โดยสารที่ไม่ติดเชื้อ

การค้นพบดังกล่าวมาจากการศึกษากรณีการระบาดในมณฑลหูหนานเมื่อวันที่ 22 ม.ค. ระหว่างเทศกาลการท่องเที่ยวปีใหม่ตามจันทรคติ หรือเทศกาลตรุษจีน หลังมีผู้โดยสารคนหนึ่ง ที่มีชื่อสมมุติว่า A (เอ) ผู้เป็นพาหะโรคโควิด-19 นั่งรถบัสทางไกลที่มี 48 ที่นั่ง โดยผู้โดยสาร A นั่งแถวที่สองนับจากด้านหลัง

ในตอนนั้น ผู้โดยสาร A รู้สึกไม่สบายแล้ว แต่เกิดขึ้นก่อนที่จีนจะประกาศการระบาดไวรัสโคโรนา เป็นวิกฤตระดับชาติ ผู้โดยสาร A จึงไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย รวมถึงผู้โดยสารส่วนใหญ่ และคนขับรถบัสด้วย

 

หู ชือสง ผู้นำการศึกษาดังกล่าว ซึ่งทำงานให้ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค มณฑลหูหนาน กล่าวว่า วิดีโอจากกล้องวงจรปิดเผยให้เห็นว่า ผู้โดยสาร A (สีแดง) ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้โดยสารคนอื่น ตลอดการนั่งรถบัส 4 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม เมื่อรถบัสคันดังกล่าวแวะจอดที่เมืองถัดไป ไวรัสโคโรนาจากผู้โดยสาร A ก็แพร่ไปยังผู้โดยสารคนอื่นอีก 7 คน (สีส้ม) ในจำนวนนี้ มีผู้โดยสาร 2 คน เป็นสามีภรรยา นั่งอยู่ด้านหน้าผู้โดยสาร A ห่างออกไป 6 แถว คิดเป็นระยะห่าง 4.5 เมตร

ภายหลัง ผู้โดยสารทั้ง 7 คน ถูกตรวจพบไวรัสโคโรนา รวมถึงผู้โดยสารคนที่ 8 (สีม่วง) ที่ไม่แสดงอาการของโรคโควิด-19

หลังจากที่ผู้โดยสารกลุ่มข้างต้นลงจากรถบัสไปแล้ว อีกราว 30 นาทีต่อมา ผู้โดยสารอีกกลุ่มขึ้นรถบัสมา ปรากฏว่า ผู้โดยสารคนหนึ่ง (สีชมพู) ซึ่งนั่งอีกฝั่งของทางเดินและไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยก็ติดเชื้อด้วย

 

ส่วนผู้โดยสาร A หลังจากรถบัสคันดังกล่าวแล้ว ก็เดินทางด้วยรถมินิบัส และโดยสารราว 1 ชั่วโมง ไวรัสจากผู้โดยสาร A ก็แพร่ไปยังผู้โดยสาร 2 คน บนรถมินิบัส และมี 1 คน นั่งห่างจากผู้โดยสาร A ราว 4.5 เมตร เช่นกัน

ตอนที่การศึกษาดังกล่าวเสร็จสิ้นเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ ผู้โดยสาร A แพร่ไวรัสไปยังผู้อื่นอย่างน้อย 13 คน

 

หู ชือสง อธิบายว่า ผู้โดยสารสีชมพูอาจสูดละอองหรืออนุภาคขนาดเล็ก จากผู้โดยสารที่ติดเชื้อของกลุ่มผู้โดยสารที่ลงจากรถบัสไปก่อนหน้านั้น

“เหตุผลที่เป็นไปได้คือว่า เมื่ออยู่ในพื้นที่ปิดมิดชิด อากาศที่ไหลเวียนส่วนใหญ่จะมาจากลมร้อนที่ผลิตออกมาจากเครื่องปรับอากาศ และลมร้อนที่เพิ่มขึ้นสามารถพาละอองที่มีไวรัสไปในระยะไกลได้มากขึ้น”

การศึกษาที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Practical Preventive Medicine เมื่อวันศุกร์ที่ 6 มี.ค. ยังค้นพบว่า ผู้โดยสารบนรถบัสและรถมินิบัสที่สวมหน้ากากอนามัย ไม่มีใครติดเชื้อ เป็นการย้ำความสำคัญของการล้างมือและการสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ

“เมื่อใช้ระบบการขนส่งสาธารณะที่เป็นพื้นที่ปิดมากกว่าปกติ เช่น รถไฟฟ้าใต้ดิน รถยนต์ เครื่องบิน ควรสวมหน้ากากตลอดเวลา ขณะเดียวกัน ลดการใช้มือในที่สาธารณะ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าก่อนล้างมือด้วย” การศึกษาระบุ

คณะนักวิจัยยังแนะนำปรับปรุงสุขอนามัยยานพาหนะสาธารณะ และปรับระบบเครื่องปรับอากาศเพื่อลดปริมาณอากาศบริสุทธิ์ที่ผลิตออกมา ส่วนด้านในยานพาหนะสาธารณะควรทำความสะอาดและฆ่าเชื้อวันละ 1-2 ครั้ง โดยเฉพาะหลังจากที่ผู้โดยสารมาถึงสถานีปลายทาง

 

หมายเหตุ: บทความการศึกษาของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค มณฑลหูหนาน ถูกถอดออกจากเว็บไซต์นิตยสาร Practical Preventive Medicine เมื่อวันอังคารที่ 10 มี.ค. โดยไม่มีการชี้แจงสาเหตุ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน