ร้อนชื้นก็ติดโควิดได้! นักวิจัยจีนพบซูเปอร์-สเปรดเดอร์แพร่ฝ่า 41 องศา

ร้อนชื้นก็ติดโควิดได้! – วันที่ 31 มี.ค. เดลีเมล์รายงานว่า นักวิจัยจีนพบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ยังสามารถติดต่อได้ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์สูง ขัดแย้งกับผลการวิจัยก่อนหน้านี้ ที่บ่งชี้ว่าสภาพข้างต้นอาจทำให้ความสามารถในการระบาดลดลง

ผลการวิจัยดังกล่าวเป็นฝีมือของคณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนานกิง ประเทศจีน ที่พบกรณีกลุ่มก้อนการระบาด หรือคลัสเตอร์ จากผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19 ที่เป็น ซูเปอร์-สเปรดเดอร์ แพร่เชื้อให้กับผู้อื่นในห้องอบซาวน่าและสระว่ายน้ำ

กรณีดังกล่าวส่งผลให้มีผู้ใช้บริการและผู้ที่ทำงานในสถานที่ดังกล่าวติดเชื้ออีก 8 คน ภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน นำไปสู่สมมติฐานของคณะวิจัยที่ว่า สภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์สูงอาจไม่ส่งผลให้ความสามารถในการระบาดของไวรัสชนิดนี้ลดลง

ร้อนชื้นก็ติดโควิดได้!

เนื่องจากสถานที่ที่ ซูเปอร์-สเปรดเดอร์ รายนี้ใช้บริการนั้นมีทั้งสระว่ายน้ำ ห้องอาบน้ำ และห้องอบซาวน่านั้นมีอุณหภูมิเฉลี่ยระหว่าง 25-41 องศาเซลเซียส

สมมติฐานนี้ขัดแย้งกับผลการศึกษาของคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยปักฮัง กรุงปักกิ่ง ที่พบว่า อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์สูงทำให้ความสามารถในการระบาดของไวรัสชนิดนี้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

โดยคณะนักวิจัยชุดนี้ใช้การเก็บข้อมูลสภาพภูมิอากาศระหว่างวันที่ 21-23 ม.ค. จากเมืองใหญ่ทั่วจีนที่พบผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้น แล้วนำมาเปรียบเทียบกับสภาพอากาศในวันที่ 24 ม.ค. เพื่อดูปริมาณที่เพิ่มขึ้นของผู้ป่วย

ขณะที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญหลายคนทั่วโลกเห็นพ้องกันว่า ผู้ป่วยโรคโควิด-19 สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ประมาณ 2-2.5 คน ซึ่งคณะนักวิจัยระบุว่า แปรผกผันกันกับอุณหภูมิและความชื้นในสัมพัทธ์ในอากาศ

ขณะที่งานวิจัยล่าสุดนั้น ผู้วิจัยต้องการทราบว่า อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ที่สูงถึงร้อยละ 60 มีผลต่อความสามารถในการระบาดของไวรัสหรือไม่ โดยเรื่องราวเริ่มจาก ซูเปอร์-สเปรดเดอร์ รายนี้ ไปใช้บริการห้องอาบน้ำเมื่อ 18 ม.ค. หลังเพิ่งกลับจากนครอู่ฮั่น ต้นตอการระบาดในจีน

ต่อมาวันรุ่งขึ้นพบว่ามีอาการป่วยเป็นไข้สูง และผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่าติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ในวันที่ 25 ม.ค. รวมทั้งพบผู้ป่วยที่มีอาการเดียวกันจากสถานที่ดังกล่าวอีก 8 คน ได้แก่ ไอ มีไข้ หายใจลำบาก ตรวจพบว่าป่วยเป็นโรคเดียวกัน

ผู้ป่วยทั้งหมด 7 คน มีอาการประมาณ 7-9 วันหลังเดินทางไปใช้บริการสถานที่แห่งเดียวกันนี้ ต่อมายังมีรายงานพบผู้ป่วยอีกรายทจากสถานที่แห่งเดียวกันในวันที่ 30 ม.ค. ทั้งหมดเป็นเพศชาย อายุระหว่าง 24-50 ปี มีไข้ร้อยละ 89 มีอาการไอร้อยละ 78

คณะนักวิจัย ระบุว่า “ผลการศึกษาก่อนหน้าที่พบว่าอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์สูงทำให้ความสามารถในการระบาดของไวรัสชนิดนี้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากการศึกษาล่าสุด จะพบว่าความสามารถในการระบาดของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ไม่ได้ลดลงในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์สูง”

“การที่พบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ซึ่งแสดงอาการหลังเดินทางไปใช้บริการสถานที่ดังกล่าว 6-9 วัน แสดงให้เห็นว่าการระบาดของเชื้อยังสามารถเกิดขึ้นได้ในสภาพแวดล้อมข้างต้น ซึ่งข้อมูลนี้ ถือว่ามีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจต่อการระบาดของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2”

อย่างไรก็ดี ทางคณะผู้วิจัย ระบุว่า การศึกษามีข้อจำกัดเกี่ยวกับรายละเอียดของลักษณะการติดต่อจาก ซูเปอร์-สเปรดเดอร์ ถึงผู้ป่วยอีก 8 คน ทั้งนี้ การวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารออนไลน์ JAMA Network Open

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน