วิจัยโควิดชี้สวมหน้ากากได้ผล นักวิทย์-หมอเสียงแตกเถียงกันเดือด!

วิจัยโควิดชี้สวมหน้ากากได้ผล – วันที่ 5 พ.ค. เดอะ การ์เดียนรายงานว่า บรรดานักวิทยาศาสตร์ถกเถียงกันอย่างดุเดือด หลังผลการศึกษาล่าสุดของราชสมาคมแห่งลอนดอน ประเทศอังกฤษ พบการสวมหน้ากากอนามัยของบุคคลทั่วไปนั้นช่วยลดอัตราการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19 ได้

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

การถกเถียงดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความอลหม่านของมาตรการชะลอการแพร่ระบาดในหลายประเทศทั่วโลก และการถกเถียงในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่างเผ็ดร้อนถึงความจำเป็นในการให้บุคคลทั่วไปสวมใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งกำลังเป็นประเด็นแหลมคมโดยเฉพาะในโลกตะวันตก

กลุ่มผู้วิเคราะห์ข้อมูลและเรียนรู้พัฒนาการการระบาดของเชื้อไวรัส หรือเดลฟ์ ในราชสมาคมแห่งลอนดอน ซึ่งเป็นคณะผู้วิจัย ระบุว่า พบหลักฐานบ่งชี้ที่สนับสนุนการให้บุคคลทั่วไปสวมใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ รวมทั้งหน้ากากผ้าด้วย เพื่อลดการระบาดของโรคโควิด-19

“การวิเคราะห์ข้อมูลของเรา พบข้อบ่งชี้ว่า การใช้สามารถลดการระบาดจากผู้ติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ หรืออยู่ในระยะฟักตัวได้ หากมีการสวมใส่อย่างกว้างขวาง และในสถานการณ์ที่การรักษาระยะห่างทางสังคมไม่สามารถทำได้ หรือคาดการณ์ได้”

“ตรงกันข้ามกับการใส่เพื่อป้องกันตัวเอง (แต่เป็นการใส่เพื่อป้องกันผู้อื่น)” และว่า “หากมีการสวมใส่ด้วยพื้นฐานข้างต้นจะมีผลให้อัตราการแพร่ระบาดลดลงได้” รายงานสรุป

รายงานระบุว่า การศึกษาดังกล่าวอาศัยข้อมูลหลายด้าน อาทิ การติดต่อทางละอองน้ำมูก-น้ำลาย (droplet transmission) ประสิทธิภาพการสกัดกั้นละอองดังกล่าวของหน้ากาก แต่เรียกเสียงคัดค้านจากนักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ ซิมอน คลาร์ก ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยรีดดิง กล่าวว่า การศึกษาไม่ได้นำเสนอหลักฐานใหม่ใดๆ และเพิกเฉยต่อปัจจัยด้านอื่น เช่น การสวมใส่หน้ากากอนามัยอาจทำให้ผู้สวมใส่เกิดลักษณะนิสัยเชิงลบต่อมาตรการป้องกันอื่นๆ หรือไม่

“จนกว่าจะมีผลการศึกษาที่นำเสนอหลักฐานใหม่ที่ชัดเจนกว่านี้ การสวมใส่หน้ากากอนามัย ถือได้ว่าเป็นเพียงแค่คำแนะนำ บนพื้นฐานของความเห็นครับ” ผศ.นพ. คลาร์ก ระบุ

เช่นเดียวกันกับ นพ. เบ็น คิลลิงลีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากโรงพยาบาล มหาวิทยาลัยลอนดอน ระบุว่า ไม่มีหลักฐานใดทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่าหน้ากากอนามัยทำให้อัตราการติดเชื้อลดลงแม้แต่ชิ้นเดียวในการศึกษานี้

“รายงานให้น้ำหนักเชิงบวกกับหน้ากากอนามัยมากเกินไป การสรุปว่าการปิดบังใบหน้าด้วยหน้ากากจะช่วยลดอัตราการระบาดในชุมชมลงได้ ถือว่าผิดมหันต์”

ศ.นพ. คิลลิงลีย์ กล่าวโจมตีอีกว่า การศึกษายังเพิกเฉยข้อมูลจริงที่มีอยู่จริง ถึงความด้อยประสิทธิภาพของหน้ากากในการป้องกันผู้สวมใส่จากโรคดังกล่าวด้วย

“ผมไม่ได้บอกว่าการใส่หน้ากากไม่มีประโยชน์นะ มันอาจจะมีก็ได้ แต่ตอนนี้ยังไม่มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนออกมา ส่วนตัวแล้วผลการศึกษานี้สำหรับผม ถือว่าขาดหลักฐาน”

ทว่า ศาสตราจารย์ทริชา กรีนฮาลจ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและการพยาบาลผู้ป่วย มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด แสดงความยินดีต่อผลการศึกษาข้างต้น โดยมองว่า เพิ่มน้ำหนักให้กับด้านสนับสนุนการสวมใส่หน้ากากในที่สาธารณะ ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในมาตรการหลังเลิกล็อกดาวน์

“การศึกษานำหลักฐานเชิงประจักษ์จำนวนมากมาเชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการระบาด และประสิทธิภาพของหน้ากากแบบต่างๆ ทั้งจากห้องปฏิบัติการและสถานการณ์จริง ทั้งในแง่ของการป้องกันตัวผู้ใส่ และการป้องกันผู้อื่น”

“ผู้ศึกษายังค้นพบข้อเท็จจริงที่สำคัญด้วยว่า การระบาดส่วนใหญ่ของไวรัสก่อโรคโควิด-19 เกิดจากผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ หรืออยู่ในระยะฟักตัว รวมถึงจุดที่นักวิทยาศาสตร์ควรศึกษาเพิ่มเติม สมกับที่เป็นคณะนักวิจัยชั้นนำและได้รับการยอมรับในราชสมาคม เป็นการศึกษาหลักฐานที่ครบถ้วน และสมบูรณ์ที่สุด” ศ.กรีนฮาลจ์ ระบุ

ศ.กรีนฮาลจ์ แนะนำว่า บุคคลทั่วไปนั้นควรสวมใส่หน้ากากผ้า เพราะใส่สบายกว่า และเพียงพอต่อการป้องกันทั้งตัวเองและผู้อื่น รวมทั้งทำให้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ และหน้ากากเอ็น-95 ซึ่งเจ้าหน้าที่การแพทย์จำเป็นต้องใช้อย่างมาก ไม่ขาดแคลน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน