วิมานลอย Gone with the Wind โดนด้วย กระแสจอร์จ ฟลอยด์ เด้งพ้นจอ
วิมานลอย – เมื่อ 10 มิ.ย. เอเอฟพี รายงานว่า กระแสการประท้วงความตายของจอร์จ ฟลอยด์ เหยื่อความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจสหรัฐอเมริกา จุดชนวนเรียกร้องความเป็นธรรม “ชีวิตคนดำก็มีค่า” ไปทั่วอเมริกาและประเทศอื่นๆ ทำให้แพลตฟอร์มสตรีมมิงภาพยนตร์ HBO Max แถลงนำภาพยนตร์อมตะเรื่อง “Gone with the Wind” หรือ วิมานลอย ปีค.ศ.1939 ออกจากบริการการฉายแล้ว
“‘Gone With The Wind’ เป็นผลงานในยุคของตนเอง จึงนำเสนอภาพอคติด้านเชื้อชาติและสีผิว ที่ผิดตั้งแต่ตอนนั้น และผิดถึงวันนี้ เรารู้สึกว่าหากถอดหนังเรื่องนี้โดยไม่อธิบายหรือไม่ตำหนิภาพอคติในสมัยนั้น จะกลายเป็นความไม่รับผิดชอบ” โฆษกของเอชบีโอ แม็กซ์ กล่าว
นอกจากนี้ เอชบีโอ แม็กซ์ ยังชี้แจงว่าจะไม่มีการตัดต่อใหม่ เพราะหากทำเช่นนั้นก็จะยิ่งซ้ำเติม ว่าอคติทางสีผิวไม่เคยเกิดขึ้น หากเราต้องการสร้างอนาคตที่มีความเท่าเทียมและครอบคลุมคนทุกกลุ่ม เราต้องเข้าใจและมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของตนเอง
การลุกฮือประท้วงการเหยียดสีผิวไปทั่วอเมริกา เกิดขึ้นนับจากที่จอร์จ ฟลอยด์ ถูกนายตำรวจเมืองมินนิแอโพลิสใช้กำลังรุนแรงจับกุม ด้วยการใช้เข่ากดด้านหลังคอ ขณะฟลอยด์นอนคว่ำหน้าและไม่ขัดขืน ได้แต่ร้องว่า ผมหายใจไม่ออก จนสุดท้ายขาดอากาศหายใจเสียชีวิต
จอห์น ริดลีย์ ผู้เขียน “12 Years A Slave” ที่นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ กล่าวว่า สมควรแล้วที่ “Gone with the Wind” ต้องถูกถอดจากโปรแกรม เพราะไม่เพียงนำเสนอภาพหยาบๆ เท่านั้น ยังมองข้ามความโหดร้ายของยุคทาส และตรึงลักษณะอันน่าเจ็บปวดของคนในเรื่องสีผิวไว้อย่างถาวร
Gone With The Wind หรือ วิมานลอย สร้างจากนวนิยายเรื่องเดียวกันนี้ ด้วยเรื่องราวความรัก กลางสงครามกลางเมืองสหรัฐ ระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ ที่ตัวละครเอก สการ์เล็ต โอฮารา ลูกสาวเจ้าของไร่ฝ้ายขนาดใหญ่ในรัฐจอร์เจีย ทางภาคใต้ ที่มีการใช้แรงงานทาส และมีตัวละครคนรับใช้ผิวดำคอยดูแลเหมือนเป็นแม่นมและพี่เลี้ยง
วิมานลอย เป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงที่สุดตลอดกาล ของอเมริกาเหนือและสหราชอาณาจักร (เมื่อคำนวณตามอัตราเงินเฟ้อ)