ขีปนาวุธนินจา เขี้ยวเล็บลับสุดยอดพญาอินทรี ติดใบมีดแทนหัวรบ

ขีปนาวุธนินจา – วันที่ 18 มิ.ย. เดลีเมล์รายงานว่า ภาพคลิปซากขีปนาวุธชนิดใหม่ของกองทัพสหรัฐอเมริกาถูกแพร่ไปในโลกออนไลน์ เผยให้เห็นขีปนาวุธรุ่นแปลกประหลาดที่ติดใบมีดไว้แทนหัวรบระเบิด จนได้รับขนานนามว่า “ขีปนาวุธนินจา”

คลิปดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ต่อโดยนายนิก วอเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสืบสวนเหตุโจมตีด้วยโดรน จากเว็บไซต์ผู้สื่อข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนระดับโลก “เบลลิงแค็ต” เผยให้เห็นซากขีปนาวุธพร้อมรหัสชัดเจนว่า AGM-114R9X หรือเรียกสั้นๆ ว่าจรวด R9X

จรวด R9X มีคุณลักษณะพิเศษ คือ จะไม่ทำลายล้างเป้าหมายด้วยหัวรบระเบิดเหมือนขีปนาวุธทั่วไป แต่จะได้รับการติดตั้งใบมีดคมกริบไว้ซึ่งจะกางออกเป็น 6 แฉก ก่อนจรวดพุ่งเข้ากระแทกเป้าหมายไม่กี่วินาทีเพื่อหั่นทุกอย่างที่ขวางหน้าเป็นชิ้นๆ

ขีปนาวุธนินจา

จรวด R9X อาจเป็นอาวุธที่ทางการสหรัฐใช้สังหารพลเอก กาสเซ็ม สุไลมานี ผู้บัญชาการหน่วยรบคุดส์ กองกำลังปฏิวัติอิสลามอิหร่าน เมื่อเดือนม.ค. ส่งผลให้ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับอิหร่านเพิ่มขึ้นจนเกือบเกิดสงครามระหว่างกัน

รายงานระบุว่า R9X น่าจะเป็นจรวดรุ่นดัดแปลงต่อมาจาก AGM-114 หรือ Hellfire ซึ่งมักใช้ในเฮลิคอปเตอร์จู่โจมอาพาชี โดยจะระเบิดเป็นเปลวไฟความร้อนสูงรัศมีถึง 200 เมตร ทำให้เสี่ยงต่อผู้คนและวัตถุโดยรอบ

ขณะที่ R9X นั้นน่าจะออกแบบมาเพื่อให้ลดผลกระทบจุดนี้ เพราะมีรัศมีสังหารเพียง 30 นิ้ว และอัตราความสำเร็จในการสังหารในรัศมีนี้ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม

ขีปนาวุธนินจา

Dailymail

ขีปนาวุธนินจายังเป็นที่เรียกขานกันในแวดวงกองทัพว่า ฟลายอิ้ง กินสุ (มีดบิน) เคยใช้ในภารกิจสังหารความแม่นยำสูงต่อบุคคลระดับสูงของเครือข่ายก่อการร้ายอัล ไคด้า ในประเทศซีเรีย คร่าชีวิตผู้โดยสารที่อยู่ในรถยนต์ แต่รถยังอยู่ในสภาพไม่เสียหายสุดขั้ว

นายกาสซัม อุล-เออร์ดินี จากจอร์แดน และบิลาล อัล-ซานาอานี จากเยเมน เป้าหมายเครือข่ายก่อการร้ายของสหรัฐล้วนถูกสังหารในลักษณะดังกล่าวเมื่อ 14 มิ.ย.

ขณะที่ทางการสหรัฐไม่ขอปฏิเสธหรือยืนยันข้อมูลใดๆ ต่อการมีอยู่ของอาวุธชนิดนี้ ส่วนผู้เชี่ยวชาญคาดว่า กระทรวงกลาโหมาสหรัฐ หรือเพนตากอน พัฒนาและนำเข้าประจำการตั้งแต่ปี 2554

กาสซัม อุล-เออร์ดินี และบิลาล อัล-ซานาอานี ถูกสังหาร

 

อาวุธชนิดนี้เริ่มเป็นที่ระแคะระคายในหมู่ผู้เชี่ยวชาญในเดือนก.พ. 2560 จากภารกิจสังหารนายอาบู คายีร์ อัล-มาซรี รองหัวหน้าเครือข่ายก่อการร้ายอัล ไคด้า ต่อมาเดือนพ.ค. 2562 กองทัพสหรัฐเจตนาปล่อยรายละเอียดของอาวุธชนิดนี้ออกมาเพื่อพยายามสร้างภาพพจน์เชิงบวกในโลกมุสลิม ว่าใช้อาวุธที่มีความแม่นยำสูง ส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างน้อย

ต่อมาเมื่อเดือนม.ค. อาวุธชนิดนี้ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศอัฟกานิสถาน ส่วนการเจตนาปล่อยข่าวนั้นน่าจะเป็นคำสั่งของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ที่เผชิญกับเสียงโจมตีว่าเป็น “จอมใช้โดรนสังหาร” ผู้คนในโลกมุสลิม

ขีปนาวุธนินจา

อาบู คายีร์ อัล-มาซรี รองหัวหน้าเครือข่ายก่อการร้ายอัล ไคด้า ถูกสังหาร

ด้านวอลล์ สตรีท เจอร์นัล สื่อทรงอิทธิพลในอเมริกา ซึ่งนำเสนอตัวตนของจรวดชนิดนี้เป็นสื่อแรก รายงานว่า กองทัพสหรัฐเคยนำจรวดนินจามาใช้จริงแล้วหลายครั้งในลิเบีย อิรัก เยเมน และโซมาเลีย

นายบีห์แนม เบ็น ตาเลบลู ผู้เชี่ยวชาญจากมูลนิธิความมั่นคงเพื่อประชาธิปไตย ระบุว่า R9X ได้รับเสียงชื่นชมจากกองทัพว่ามีความแม่นยำสูงมาก โดยถูกปรับปรุงจากขีปนาวุธต่อต้านรถถัง Hellfire และมักใช้กับโดรนสังหาร รุ่น Reaper (ยมทูต) และ Predator (นักล่า)

ขีปนาวุธนินจา

กลไกการทำลายเป้าหมายของจรวดชนิดนี้จะกางใบมีดที่สร้างขึ้นจากเหล็กกล้าออกก่อนตกกระทบเป้าหมาย ช่วยลดผลกระทบไม่ให้มีผู้ถูกลูกหลง ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่ต้องการอย่างมากในภารกิจต่อต้านการก่อการร้าย ที่คนร้ายมักเลือกที่ชุมชน และที่ผู้คนหนาแน่นเป็นเกราะกำบัง

ด้านแหล่งข่าวภายในเพนตากอน ไม่ยอมเปิดเผยว่า ปัจจุบันกองทัพสหรัฐมี R9X อยู่ทั้งหมดกี่ลูก แต่ระบุว่า ถูกออกแบบมาให้มีความแม่นยำเพียงพอต่อการสังหารผู้โดยสารในรถได้ โดยไม่ทำอันตรายต่อคนขับ หรือสังหารคนในบ้านได้ โดยไม่ทำอันตรายต่อผู้คนรอบข้าง

ขีปนาวุธนินจา

ใบมีดเหล็กกล้าของ R9X มีความคมสามารถหั่นกำแพงคอนกรีต หลังคาบ้าน และแผ่นเหล็กของรถยนต์ได้เหมือนตัดเค้ก เคยได้รับการพิจารณาเป็นอาวุธสังหารนายโอซามา บิน ลาเดน ผู้นำอัล ไคด้า ในภารกิจเมื่อปี 2554 แต่สุดท้ายตัดสินใจส่งหน่วยซีลทีมซิกส์เข้าไปแทนที่ปากีสถาน

วอลล์ สตรีท เจอร์นัล รายงานอีกว่า เพนตากอนยังมีความสนใจพัฒนาอาวุธชนิดใหม่อื่นๆ ที่คล้ายคลึงกับ R9X ด้วย เพราะสะดวกต่อการใช้สังหารผู้ก่อการร้ายที่ซ่อนตัวในชุมชน เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกสังหารด้วยการโจมตีทางอากาศ

อย่างไรก็ตาม R9X นั้นมีข้อด้อยตรงที่จำเป็นต้องใช้ข่าวกรองที่มีความแม่นยำสูงมากขึ้นตามไปด้วย หมายถึงกองทัพต้องหันไปลงทุนเพิ่มด้านทรัพยากรบุคคล และอันตรายของเจ้าหน้าที่ภาคสนามที่ต้องคอยป้อนข่าวที่มีความถูกต้องกลับมายังศูนย์ภารกิจควบคุมโดรนของสหรัฐ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน