มะกันตื่นพบกิ้งก่ายักษ์เตกูครั้งแรก ชี้ไม่ใช่สัตว์ท้องถิ่น-ห่วงระบบนิเวศ

มะกันตื่นพบกิ้งก่ายักษ์เตกูครั้งแรก – วันที่ 24 ส.ค. ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติรัฐเซาท์ แคโรไลนา ประเทศสหรัฐอเมริกา พบกิ้งก่ายักษ์เตกูในพื้นที่เป็นครั้งแรก สร้างความกังวลว่าอาจเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ เพราะเป็นสัตว์ต่างถิ่น

เจ้าหน้าที่ของสำนักงานดังกล่าวเข้าจับกิ้งก่ายักษ์เตกู เพศเมีย ได้ที่เขตเล็กซิงตัน เคาน์ตี้ วัดความยาวลำตัวได้ราว 0.7 เมตร โดยตัวเต็มวัยนั้นมีขนาดยาวได้ถึง 1.7 เมตร และอาจหนักถึง 4.5 กิโลกรัม

มะกันตื่นพบกิ้งก่ายักษ์เตกูครั้งแรก

นายแอนดรูว กรอสซี นักวิทยาสัตว์เลื้อยคลานจากสำนักงานดังกล่าว ระบุว่า “การนำสัตว์ต่างถิ่นเข้ามาจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศและสัตว์ท้องถิ่น กิ้งก่าเตกูขาวดำก็เช่นกัน”

“ธรรมชาติของกิ้งก่าเตกูนั้นโตเร็วและขยายพันธุ์รวดเร็ว ที่น่ากังวลที่สุด คือ สถานที่วางไข่ของพวกมันจะไปทับกับนกที่ทำรังบนพื้นดินหลายสายพันธุ์ เช่น ไก่งวง และนกกระทา รวมถึงเต่าโกเฟอร์ ที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์” กรอสซี เตือน

ทั้งนี้ กิ้งก่ายักษ์เตกู เป็นสัตว์ท้องถิ่นในทวีปละตินอเมริกา กินนก สัตว์ปีก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ขนาดเล็ก สัตว์เลื้อยคลานอื่นๆ รวมถึงไข่ ผลไม้ ผัก และแมลงเป็นอาหาร ทั้งยังมีนิสัยที่ตะกละตะกลาม ตลอดจนเป็นพาหะของปรสิตและแบคทีเรียอันตรายที่อาจปนเปื้อนพืชไร่ด้วย

เจ้าหน้าที่ คาดว่า การพบกิ้งก่าเตกูในรัฐเซาท์ แคโรไลนา น่าจะมีสาเหตุมาจากการลักลอบนำเข้ามาแล้วนำมาปล่อยทิ้ง หรืออาจหลุดออกมาจากสถานที่เลี้ยง อย่างไรก็ตาม กิ้งก่าเตกู ไม่ได้เป็นสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของรัฐดังกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน