กรีซแจงผู้ขอลี้ภัยติดโควิดไม่กักตัว – วันที่ 9 ก.ย. บีบีซี รายงานเหตุไฟไหม้ ค่ายโมเรีย ค่ายผู้อพยพขนาดใหญ่สุดของกรีซ บนเกาะเลสบอส ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับความจุเพียง 3,000 คน แต่ผู้อพยพจำนวนมากอยู่กันอย่างแออัด 13,000 คน ต้องกลายเป็นคนไร้ที่พักพิง

 

ผู้อพยพหลายคนต่างหนีควันไฟออกมา หลายคนพยายามขนข้าวของไปท่าเรือเมืองมิติเลน แต่ตำรวจปิดกั้นถนนจากค่ายโมเรีย เพื่อป้องกันผู้อพยพเดินทางออกไปเมืองใกล้เคียง นอกจากนี้ คนท้องถิ่นบางส่วนทำร้ายและไม่ให้ผู้อพยพเดินทางผ่านหมู่บ้านใกล้เคียง ผู้อพยพจึงต้องนอนหลับตามทุ่งหญ้า

หัวหน้าดับเพลิงถิ่นกล่าวกับช่องโทรทัศน์อีอาร์ทีว่า ไฟไหม้เกิดขึ้นมากกว่า 3 จุด ในเวลาไล่เลี่ยกัน ผู้อพยพบางส่วนขัดขวางนักดับเพลิงเข้าไปสกัดกั้นเปลวไฟ อย่างไรก็ดี เปลวไฟหลักที่เกิดจากกระแสลมแรงโหมจนลุกลาม เจ้าหน้าที่ดับเพลิง 40 นาย สกัดกั้นช่วงเช้าตามเวลาท้องถิ่น เหลือเฉพาะไฟไหม้ขนาดเล็กภายในตู้คอนเทนเนอร์ที่อยู่อาศัยบางส่วน

ยังไม่มีความชัดเจนว่าสาเหตุเกิดจากอะไร แต่ โนติส มีตาราชี รัฐมนตรีกระทรวงผู้อพยพของกรีซ แถลงว่า ไฟไหม้เริ่มจากกลุ่มผู้ขอลี้ภัย 35 คน ที่ปฏิเสธเคลื่อนย้ายไปสถานที่แยกกักตัวกับครอบครัว หลังถูกตรวจพบโควิด-19 แต่ไม่ได้กล่าวว่า ไฟไหม้เกิดจากการจงใจวางเพลิงเพื่อเผาทำลายค่ายผู้อพยพ

REUTERS

REUTERS

อย่างไรก็ตาม มีคาลิส ฟรัตเซสคอส รองนายกเทศมนตรีฝ่ายคุ้มครองพลเรือนบนเกาะเลสบอส ให้สัมภาษณ์อีอาร์ทีว่า ไฟไหม้ค่ายผู้อพยพมีการไตร่ตรองมาล่วงหน้า เนื่องจากเต็นต์ผู้อพยพว่างเปล่า และคนลอบวางเพลิงใช้ประโยชน์จากกระแสลมแรงโหมไฟไหม้จนลุกลาม

ไฟไหม้ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในช่วงที่ค่ายโมเรียอยู่ระหว่างกักตัวผู้อพยพชาวโซมาเลียคนหนึ่งที่มีผลการทดสอบโควิด-19 เป็นบวก ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ทำให้ตอนนี้ค่ายผู้อพยพแห่งนี้มียอดผู้ติดเชื้อเป็น 35 คน

REUTERS

REUTERS

สำหรับความช่วยเหลือ ทางการกรีซจัดสรรเต็นท์แก่ประชาชน 3,000 คน เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะพบศูนย์พักพิงอื่นๆ และนายกรัฐมนตรีกรีซ คีเรียคอส มิตโซตากิส เรียกประชุมฉุกเฉินเพื่อหารือเกี่ยวกับไฟไหม้ค่ายผู้อพยพ และส่งรัฐมนตรีไปเกาะเลสบอสเพื่อประเมินสถานการณ์ด้วย

สหภาพยุโรปเสนอความช่วยเหลือการเงินในการเคลื่อนย้ายวัยรุ่นและเด็กไร้ผู้ดูแล 400 คน ไปอยู่ในตัวประเทศกรีซ ส่วนเยอรมนี มุขมนตรีรัฐนอร์ดไรน์-เวสท์ฟาเลินเสนอรับผู้ลี้ภัย 1,000 คน

ด้านสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติออกแถลงการณ์ถึงความตึงเครียดระหว่างชาวบ้านและผู้อพยพ ขอให้ทุกคนใช้ความยับยั้งชั่งใจ ส่วนผู้อพยพอย่าหนีออกนอกเมือง เนื่องจากทางการกรีซแก้ปัญหาที่พักพิงชั่วคราวแล้ว

ทั้งนี้ ค่ายโมเรียประสบปัญหาผู้ลี้ภัยแออัดมานานหลายปี ตามข้อมูลของ อินโฟไมแกรนต์ ผู้อพยพในค่ายแห่งนี้มาจากมากกว่า 70 ประเทศ ทว่าร้อยละ 70% ของผู้อพยพมาจาก อัฟกานิสถาน แม้จะมีการสร้างค่ายผู้อพยพอีกแห่งคือ คารา เตเป แต่ยังไม่เพียงพอรองรับผู้อพยพทั้งหมดได้

อีกทั้ง ผู้อพยพหลายพันคนถูกขังอยู่ในค่ายและออกไปไหนไม่ได้หลายปี จนกว่าที่ทางการกรีซจะดำเนินกระบวนการผู้ขอลี้ภัยซึ่งเป็นระบบรัฐบาลที่มีความล่าช้า

ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปพยายามตั้งถิ่นฐานใหม่สำหรับผู้อพยพในบรรดาประเทศสมาชิกแต่กลับถูกปฏิเสธข้อเสนอต่างกันไป ทำให้ผู้อพยพต้องรอคอยในสภาพความเป็นอยู่ย่ำแย่ ส่วนกรีซเองถูกองค์การสิทธิมนุษยชนวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่พยายามมากพอเพื่อจัดการสภาพความแออัดยัดเยียดของค่ายผู้อพยพ อีกทั้ง ไม่เตรียมรับมือกับการระบาดของโควิด-19

แม้ว่าทางการกรีซจะวางแผนสร้างสถานกักตัวสำหรับผู้อพยพเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ แต่ถูกชาวบ้านบนเกาะเลสบอสประท้วงและลงไม้ลงมือกับเจ้าหน้าที่หลังขนเครื่องมือก่อสร้างเข้ามา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน