เมื่อวันที่ 26 ส.ค. เอเอฟพีรายงานเหตุการณ์ความไม่สงบจากความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมโรฮิงยากับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของพม่าระลอกใหม่ในรัฐยะไข่ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 92 ราย ว่าเจ้าหน้าที่ความมั่นคงพม่ายังควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ เสียงการต่อสู้ยังคงดังข้ามคืนจากวันศุกร์ที่ 25 ส.ค. จนถึงตอนช่วงเที่ยงของวันเสาร์ที่ 26 ส.ค.

เกิดเหตุปะทะรอบใหม่นี้ สำนักงานที่ปรึกษาแห่งรัฐของนางออง ซาน ซู จี ระบุว่าเกิดขึ้นหลังจากกลุ่มมุสลิมติดอาวุธในกลุ่มบรรเทาทุกข์ชาวโรฮิงยาแห่งรัฐยะไข่หรือเออาร์เอสเอนำโจมตีป้อมตำรวจใกล้เมืองหม่องดอว์กว่า 20 จุด เจ้าหน้าที่ถูกสังหารใน 3 หมู่บ้าน ทำให้พม่าส่งทหารเข้าปราบปราม ยอดผู้เสียชีวิตดังกล่าวเป็นฝ่ายเจ้าหน้าที่ 12 ราย และกลุ่มมุสลิมติดอาวุธที่ถูกสังหารภายในวันเดียวถึง 77 ราย และอีกวันตายเพิ่มอีก 3 ราย สถานการณ์นี้ยังทำให้ชาวบ้านต้องหนีตายข้ามพรมแดนมายังฝั่งประเทศบังกลาเทศ

ชาวโรฮิงยาหนีจากชุมชนมารออยู่ที่เมืองอุคิยา ติดชายแดนบังกลาเทศ / AFP PHOTO / STR

เอเอฟพีรายงานด้วยว่า ชาวบ้านกว่า 2,000 คนที่อพยพหนีตายไปติดค้างอยู่ชายแดนบังกลาเทศตกอยู่ในอาการตื่นตระหนกและสิ้นหวังมาก เพราะเจ้าหน้าที่บังกลาเทศไม่ให้ข้ามแดน แต่จะกลับไปบ้านก็ไม่ได้เช่นกัน

ผู้หญิงและเด็กอพยพออกจากหมู่บ้านมายังเมืองยาเธ ทอง ในรัฐยะไข่ AFP PHOTO / Wai Moe

นายมินต์ เจียง เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารเมืองหม่องดอว์กล่าวว่า สถานการณ์ตึงเครียดมาก ทั้งนี้เมื่อมีความกังวลแพร่ไป แม้ชาวบ้านที่เป็นฮินดูยังหนีจากหมู่บ้านใกล้เคียงไปเมืองหม่องดอว์ หลังมีข่าวลือว่าพวกตนกลายเป็นเป้าโจมตีจากนักรบติดอาวุธด้วย บอกว่าอยู่ในบ้านไม่มีความปลอดภัย บางคนต้องหลบไปอยู่ในวัด

ชาวโรฮิงยาตกอยู่ในสภาพไม่มีที่ไป / AFP PHOTO / STR

ทหารพม่ากล่าวว่า นักรบติดอาวุธถือปืนและใช้ระเบิดแสวงเครื่องโจมตี รัฐบาลประกาศว่ากลุ่มเออาร์เอสเอเป็นกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งก่อตั้งโดยนักรบจิฮัดโรฮิงยา ซึ่งได้รับการฝึกฝนจากต่างประเทศ แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่ากลุ่มมีเครือข่ายใหญ่แค่ไหน

ชาวบ้านในเมืองยาเธทองบางคนถืออาวุธคุ้มกันหมู่บ้าน / AFP PHOTO / Wai Moe

เมื่อปลายเดือนต.ค.ปีที่แล้วเกิดเหตุกลุ่มติดอาวุธดังกล่าวโจมตีจุดตรวจชายแดน ทำให้ตำรวจเสียชีวิต 9 ราย ทำให้ทหารประกาศภาวะฉุกเฉินที่เมืองหม่องดอว์ เข้าปราบปรามล่าตัว ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย ชาวโรฮิงยาจำนวน 87,000 หนีไปบังกลาเทศ ด้านสหประชาชาติเชื่อว่า การปราบปรามจากฝ่ายทหารอาจเทียบได้กับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงยา ขณะที่กองทัพปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าฆ่าและข่มขืนชาวบ้านโรฮิงยา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน