พบสเปิร์มเก่าแก่สุดในโลก ฝังอยู่ในอำพันพม่า100 ล้านปี ขนาดใหญ่เบิ้ม

พบสเปิร์มเก่าแก่สุดในโลก – วันที่ 16 ก.ย. เอเอฟพี รายงานการค้นพบสเปิร์มเก่าแก่ที่สุดในโลกของสัตว์ดึกดำบรรพ์ ถูกหลอมอยู่ในก้อนอำพันจากเมียนมาที่เกิดมาจากยางไม้ในยุคครีเตเชียส เมื่อราว 100 ล้านปีก่อน

ผลงานการค้นพบดังกล่าวเป็นของนายหวัง เหอ และคณะจากสถาบันวิทยาศาสตร์นานกิง ประเทศจีน กล่าวว่า สเปิร์มที่ค้นพบมีความเก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบมา เอาชนะสถิติเดิมที่เคยมีการค้นพบเดิมในก้อนฟอสซิลอายุ 17 ล้านปีเท่านั้น

AFP PHOTO

รายงานระบุว่า สเปิร์มดังกล่าวถูกพบอยู่ภายในตัว ออสตราคอด สัตว์น้ำในยุคครีเตเชียส และหาได้ทั่วไปในทะเลปัจจุบัน บ่งบอกว่าสเปิร์มในออสตราคอดตัวเมียตัวนี้น่าจะผ่านการผสมพันธุ์ได้ไม่นานก่อนเคราะห์ร้ายถูกยางไม้ไหลห่อหุ้มตัว

ที่น่าทึ่งกว่านั้น คือ ขนาดของสเปิร์มที่พบมีขนาดใหญ่กว่าออสตราคอดตัวผู้ 4.6 เท่า หรือหากเทียบกับมนุษย์ผู้ชายสูง 170 เซนติเมตร ก็จะมีขนาดสเปิร์มยาวใหญ่ถึง 7.3 เมตร ทำให้นักวิทยาศาสตร์มองว่าจะต้องใช้พลังงานมหาศาลในการผลิตสเปิร์ม

สำหรับออสทราคอดที่พบนั้นเป็นสายพันธุ์ใหม่ด้วย นักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อให้ว่า Myanmarcypris hui ซึ่งการค้นพบตัวออสทราคอดอาจไม่ยาก แต่การพบส่วนเป็นเนื้อเยื่อนุ่มๆ นั้นหายากมาก

ขณะที่การสืบพันธุ์ของออสทราคอดนั้นจะตรงกันข้ามกับสิ่งมีชีวิตในปัจจุบันที่เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ แต่นักวิทยาศาสตร์ยังถกเถียงกันไม่จบสิ้นว่าแบบใดดีกว่ากัน

ยกตัวอย่างการทดลองการนำสิ่งมีชีวิตมารวมกันโดยมีการแข่งขันระหว่างตัวผู้เพื่อแย่งตัวเมียสูงพบว่าร่างกายของสัตว์เหล่านี้เน้นผลิตสเปิร์มที่มีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น เช่นเดียวกันกับในสิ่งแวดล้อมที่มีการแข่งขันต่ำ ก็กลับได้ผลแบบเดียวกัน

กรณีของออสทราคอด นักวิทยาศาสตร์มองว่า การที่สเปิร์มมีขนาดใหญ่นั้นเพื่อสร้างความได้เปรียบในการดำรงเผ่าพันธุ์ระยะยาวมากกว่า

+++++

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : พบฟอสซิลลูกงูเป็นครั้งแรก ในก้อนอำพันเก่าแก่ 99 ล้านปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน