โปรโตไทป์ “สเต็กคน” – วันที่ 18 พ.ย. เมโทร รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์และนักออกแบบจากสหรัฐอเมริกาสร้าง ชุดทำสเต็กจากเนื้อมนุษย์เพาะปลูกเอง ซึ่งใช้เซลล์และเลือดของมนุษย์ ด้วยความหวังเป็นทางเลือกทดแทน ซีรั่มจากตัวอ่อนวัว (fetal bovine serum: FBS) ของเหลวอุดมด้วยโปรตีนสำหรับการเพาะปลูกเซลล์ ที่อุตสาหกรรมเพาะปลูกเนื้อสัตว์ในห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ใช้กัน

Designed by Andrew Pelling, Orkan Telhan and Grace Knight.

โครงการดังกล่าวมีชื่อ โอโรโบรอส สเต็ก (Ouroboros Steak) มาจากชื่องูอียิปต์โบราณที่กินตัวเอง สามารถใช้เซลล์มนุษย์ขูดจาก กระพุ้งแก้ม และซีรั่มมนุษย์ได้จาก เลือดบริจาคเก่า มาเพาะปลูกเนื้อสำหรับสเต็กได้

แม้ว่าโอโรโบรอส สเต็ก จะเป็นเพียงต้นแบบ (Prototype) และออกแบบมาเป็นงานศิลปะกระตุ้นความคิด แต่ใช้ชิ้นเนื้อเพาะปลูกจากเซลล์มนุษย์จริงๆ จัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งของานศิลปะใน นิทรรศการออกแบบแห่งปีบีซลีย์ (Beazley Designs of the Year) ที่พิพิธภัณฑ์การออกแบบ (Design Museum) กรุงลอนดอนของอังกฤษ จนถึงวันที่ 28 มี.ค. 2564

 

ซีรั่มจากตัวอ่อนวัวได้จากเลือดตัวอ่อนวัวในครรภ์ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเมื่อแม่วัวท้องถูกเชือดในอุตสาหกรรมเนื้อและนม ซีรั่มชนิดนี้มีราคาสูงถึงราว 28,000 บาทต่อลิตร แต่มักถูกวิพากษ์วิจารณ์เนื่องจากเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมทำลายสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่เพาะปลูกในแล็บมักโฆษณาว่า ผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเนื้อสัตว์จากสัตว์ที่เลี้ยงในฟาร์ม แต่นักวิจารณ์ชี้ว่า การใช้ซีรั่มจากตัวอ่อนวัวมีจุดบอดเหมือนกัน

Designed by Andrew Pelling, Orkan Telhan and Grace Knight.

แอนดรูว์ เพลลิง นักวิทยาศาสตร์และนักออกแบบโอโรโบรอส สเต็ก กล่าวว่า ซีรั่มจากตัวอ่อนวัวกว่าจะได้มาต้องเสียค่าใช้จ่ายและชีวิตสัตว์เป็นจำนวนมาก

“แม้ว่าผู้ผลิตเนื้อสัตว์ที่เพาะปลูกในแล็บจะอ้างถึงการแก้ปัญหาข้างต้นแล้ว แต่จากข้อมูลของเรา ยังไม่มีการศึกษาวิทยาศาสตร์โดยผู้เชี่ยวชาญอิสระฉบับไหนตรวจสอบเรื่องนี้เลย เนื่องด้วยอุตสาหกรรมการเพาะปลูกเนื้อสัตว์ในแล็บพัฒนาอย่างรวดเร็ว จึงต้องพัฒนาการออกแบบที่เปิดเผยข้อจำกัดพื้นฐานบางอย่างเพื่อเห็นอะไรมากขึ้นนอกเหนือโฆษณาเกินจริง”

 

สำหรับการจัดแสดงปีนี้ สเต็กมนุษย์ถูกหั่นเป็นชิ้นเล็ก เคลือบด้วยเรซิ่น และจัดวงบนจานพร้อมเสิร์ฟ ทำมาจากเซลล์มนุษย์ที่เพาะเลี้ยงที่สั่งซื้อจากศูนย์รวบรวมเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออเมริกา (American Tissue Culture Collection) และซีรั่มได้จากเลือดบริจาคหมดอายุ

คนทั่วไปสามารถทดลองกับชุดทำสเต็กได้ ใช้เซลล์จากเนื้อเยื่อกระพุ้งแก้ม และเพาะปลูกด้วยเส้นใย ไมซีเลียม (mycelium) จากเห็ด ในสภาพอากาศอบอุ่นเป็นเวลา 3 เดือน จะได้เนื้อเติบโตเต็มที่

 

ด้าน เกรซ ไนต์ นักออกแบบอุตสาหกรรม ผู้ช่วยออกแบบโอโรโบรอส สเต็ก กล่าวว่า “เลือดมนุษย์หมดอายุแล้วเป็นวัสดุของเสียในระบบการแพทย์ มีราคาถูกกว่า และยั่งยืนกว่าซีรั่มจากตัวอ่อนวัว แต่หลายวัฒนธรรมไม่ค่อยยอมรับ เนื่องจากคนคิดว่าการกินตัวเองเป็น พฤติกรรมการกินพวกเดียวกันเอง (cannibalism) ซึ่งทางเทคนิคแล้วไม่ใช่เลย”

ทั้งนี้ เนื้อสัตว์ที่เพาะปลูกในแล็บยังไม่มีที่ไหนในโลกรับรองสำหรับการบริโภคของมนุษย์ แต่อุตสาหกรรมดังกล่าวมีมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน