ส่องสังคมชายเป็นใหญ่ สมาชิกหญิงสภาเมืองญี่ปุ่นถูกลงมติไล่พ้นตำแหน่ง

ส่องสังคมชายเป็นใหญ่ – วันที่ 10 ธ.ค. ซีเอ็นเอ็น รายงานวิเคราะห์กรณีชาวเมืองคุซัตสึ จังหวัดกุนมะ ตอนกลางของญี่ปุ่น ลงประชามติท่วมท้นร้อยละ 92 ไล่ น.ส.โชโกะ อะราอิ วัย 51 ปีออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาเมืองที่มีผู้หญิงเพียงคนเดียว เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. เพราะไม่พอใจที่นักการเมืองหญิงเปิดโปงว่านายทาดาโนบุ คุโรอิวะ นายกเทศมนตรีเมืองคุซัตสึ เคยล่วงละเมิดทางเพศตนเมื่อปี 2561

ชาวเมืองกลับมองว่า การเปิดเผยเรื่องนี้ของน.ส.อะราอิลดคุณค่าผู้หญิง และเป็นกรณีสะท้อนว่าผู้ชายญี่ปุ่นยังคงทรงอิทธิพลสูงทางสังคมและการเมือง จนกระแส #MeToo ที่กระตุ้นให้ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อทางเพศกล้าเปิดเผยเรื่องนี้ทางสังคม ยังคงไม่ได้ผลในสังคมอนุรักษนิยม

ส่องสังคมชายเป็นใหญ่

สื่อญี่ปุ่นนำเสนอข่าวนี้อย่างต่อเนือง

กรณีนี้เริ่มเป็นประเด็นตั้งแต่ น.ส.อะราอิพิมพ์เผยแพร่เรื่องราวนี้ผ่านอีบุ๊ก เมื่อเดือน พ.ย.2562 ว่าตนเองถูกนายคุโรอิวะบังคับให้มีสัมพันธ์ทางเพศ จึงกลายเป็นข้อพิพาททางการเมืองตั้งแต่นั้นมา

แม้ว่าตอนแรก น.ส.อาราอิยังรั้งสถานะสมาชิกสภาเมืองไว้ได้ แต่ยังมีชาวบ้าน 19 คนนำโดยนายทาเคชิ คุโรอิวะ ประสภาเมืองโจมตีอย่างต่อเนื่องว่า น.ส.อะราอิใส่ร้ายป้ายสีให้นายกเล็กเสียชื่อเสียง ทั้งที่เจ้าตัวปฏิเสธแล้ว

ส่องสังคมชายเป็นใหญ่

น.ส.โชโกะ อะราอิ / Asahi Shimbun

นักการเมืองหญิงยังถูกโจมตีว่าทำให้เมืองที่ขึ้นชื่อเป็นเมืองรีสอร์ตและน้ำพุร้อนก็เสียภาพลักษณ์ไปด้วย ถือว่าการดำรงตำแหน่งของนักการเมืองหญิงสิ้นเปลืองเงินภาษี จึงขอให้จัดประชามติและขับ น.ส.อะราอิได้ในที่สุด

ส่วนกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยอีกฝ่ายมองว่า น.ส.อะราอิถูกปฏิบัติอย่างไม่ธรรมและเหยียดเพศ สอดคล้องกับที่ญี่ปุ่นรั้งอันดับ 121 จาก 153 ประเทศที่มีช่องว่างความเท่าเทียมชายหญิงสูง วัดจากการที่ญี่ปุ่นมีผู้หญิงทำงานน้อยกว่าผู้ชายมาก ส่วนผู้หญิงที่ทำงานได้ มักอยู่ในตำแหน่งที่เป็นรอง และถูกสกัดไม่ให้ขึ้นตำแหน่งผู้บริหาร

เมืองคุซัตสึ / People walk around the Kusatsu Onsen resort in Kusatsu, Gunma Prefecture, Japan, on Saturday, June 27, 2020. Photographer: Soichiro Koriyama/Bloomberg

เมื่อพิจารณาช่องว่างในวงการการเมือง ช่องว่างนี้ยิ่งห่างออกไปอีก เมื่อเดือนตุลาคมปีนี้ มีสมาชิกสภาผู้แทนหญิงเพียง 46 คน จากสมาชิกทั้งสภา 465 คน คิดเป็นอัตราร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกร้อยละ 25

อย่างไรก็ตาม กรณีก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2562 น.ส.ชิโอริ อิโตะ เหยื่อสาวที่เป็นนักข่าว อายุ 30 ปี เป็นฝ่ายชนะคดีฟ้องร้องนายโนริยูกิ ยามางูจิ อดีตหัวหน้าโต๊ะข่าววอชิงตัน สถานีโทรทัศน์ ทีบีเอส ข่มขืนขณะที่หญิงสาวไม่ได้สติ แม้ศาลจะสั่งให้จ่ายชดเชยเหยื่อเพียง 9 แสนบาท แต่ถือเป็นคดีที่สร้างความสั่นสะเทือนในกระแส MeToo ที่ญี่ปุ่นอย่างยิ่ง

++++

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : นักข่าวหญิงเหยื่อขืนใจ ชนะคดีหน.ข่าวทีวีดังญี่ปุ่น ศาลสั่งฝ่ายชายชดใช้

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน